- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
สศท.1 เผยแนวทางการเพิ่มมูลค่า ‘ฟางข้าว’ วัสดุเหลือใช้จากนาข้าว พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ขับเคลื่อนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ข่าวที่ 126/2567 วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567
สศท.1 เผยแนวทางการเพิ่มมูลค่า ‘ฟางข้าว’ วัสดุเหลือใช้จากนาข้าว พื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ
ขับเคลื่อนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
นางกุลธิดา ศรีวิพัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio Circular Green Economy: BCG) พ.ศ. 2564 – 2570 โดยสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า นำไปสู่การลดปริมาณของเสียและฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ขับเคลื่อนตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG
สำหรับฟางข้าว นับเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเกิดจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวหลังจากที่มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวของเกษตรกร ซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือเพิ่มมูลค่าได้ ดังนั้น สศท.1 จึงได้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว ปี 2566 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และพะเยา พบว่า ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ มีปริมาณฟางข้าวรวม 1.31 ล้านตันซึ่งจากการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 188 ราย ประกอบด้วย เกษตรกรที่มีการบริหารจัดการฟางข้าวจำนวน 148 ราย ผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว จำนวน 20 ราย และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จำนวน 20 ราย ได้มีการบริหารจัดการใช้ประโยชน์และเพิ่มมูลค่าจากฟางข้าวของพื้นที่ 4 จังหวัด ดังนี้ เกษตรกรที่มีการบริหารจัดการฟางข้าว ส่วนใหญ่ขายแบบเหมาไร่ มีปริมาณฟางก้อนที่ผลิตได้เฉลี่ย 20 ก้อน/ไร่ มีต้นทุนค่าใช้บริการเครื่องอัดฟางข้าวเฉลี่ย 12.99 บาท/ก้อน จำหน่ายได้ราคาเฉลี่ย 29.95 บาท/ก้อน ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 16.96 บาท/ก้อน หรือ 339.20 บาท/ไร่ กลุ่มผู้ประกอบการแปรรูป/ผู้รวบรวมฟางข้าว ผลิตฟางอัดก้อนได้เฉลี่ย 20 ก้อน/ไร่ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการฟางข้าวอัดก้อนเฉลี่ย 11.90 บาท/ก้อน จำหน่ายฟางข้าวอัดก้อนได้ราคาเฉลี่ย 34.18 บาท/ก้อน ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 22.28 บาท/ก้อน หรือ 445.60 บาท/ไร่ และผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว ได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ มีค่าใช้จ่ายค่าอาหารลดลง 10 บาท/ตัว/วัน เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีค่าใช้จ่ายค่าอาหารลดลง 63.87 บาท/ตัว/วัน เกษตรกรผู้ปลูกผัก นำไปใช้เป็นปุ๋ยหมักแทนการใช้ปุ๋ยเคมีในแปลงพืชผัก มีค่าใช้จ่ายค่าปุ๋ยลดลง 1,200 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรผู้ปลูกผัก นำไปใช้เป็นวัสดุคลุมแปลงพืชผักทดแทนพลาสติก มีค่าใช้จ่ายค่าวัสดุคลุมดินลดลง 320 บาท/ไร่/รอบการผลิต เกษตรกรผู้เพาะเห็ด นำไปใช้เป็นวัสดุในการเพาะเห็ดทดแทนขี้เลื่อย มีค่าใช้จ่ายวัตถุดิบลดลงก้อนละ 10.67 บาท/ก้อน และเกษตรกร ผู้เลี้ยงปลา นำไปใช้เป็นอาหารในการเลี้ยงปลาแทนการให้อาหารสำเร็จรูป มีค่าใช้จ่ายอาหารปลาลดลง 3,880 บาท/รุ่น
ด้านแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าว ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้กำหนด 9 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1) ส่งเสริมการสร้างความตระหนักจากการไม่ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว 2) สร้างการเชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว 3) จัดการวัสดุเหลือใช้ในนาข้าวอย่างเป็นระบบ/ครบวงจร 4) ส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติ 5) สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อการพัฒนากระบวนการจัดการฟางข้าว 6) พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ 7) เสริมสร้างความรู้ให้เกษตรกรในทุกมิติ 8) พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้าฟางข้าวสำหรับตลาดอาหารสัตว์ และ 9) สนับสนุนเครื่องจักร เทคโนโลยี/นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการบริหารจัดการฟางข้าว
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้จากฟางข้าวให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ควรสร้างและพัฒนา ช่องทางการเชื่อมโยงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารความต้องการของตลาดระหว่างเกษตรกร ผู้รวบรวม และผู้ใช้ประโยชน์ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปให้มีความหลากหลายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรผลักดันการจัดทำฐานข้อมูลของผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ประโยชน์จากฟางข้าว เพื่อให้เกิดเครือข่ายทางการค้าที่เข้มแข็ง สามารถบริหารจัดการฟางข้าวให้เหมาะสมกับความต้องใช้ของผู้ใช้ประโยชน์ ในส่วนของภาครัฐ ควรสร้างความตระหนักถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเผาฟางข้าวและส่งเสริมการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ให้แก่เกษตรกร โดยใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมทดแทนแรงงานคน รวมถึงการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อลงทุนการพัฒนากระบวนการจัดการฟางข้าวเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิม หากท่านใดสนใจข้อมูลงานวิจัยการจัดการโซ่อุปทาน และแนวทางการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร กรณีศึกษาฟางข้าว ปี 2566 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.1 โทร 0 5312 1318 หรืออีเมล์ zone1@oae.go.th
************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่