สศก. ปักหมุด พื้นที่ภาคกลาง-เหนือตอนล่าง ศึกษาความคุ้มค่าการใช้โดรนในนาข้าว

ข่าวที่ 57/2562 วันที่ 23 พฤษภาคม 2562
 
สศก. ปักหมุด พื้นที่ภาคกลาง-เหนือตอนล่าง ศึกษาความคุ้มค่าการใช้โดรนในนาข้าว 
 
            นางอัญชนา  ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ซึ่งเน้นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน นับเป็นอีกนวัตกรรมที่ได้รับความนิยมและหลายประเทศมีการนำมาปรับใช้กับภาคเกษตรได้มีประสิทธิภาพ อาทิ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยปัจจุบัน โดรนถูกนำมาใช้ในการตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกเพื่อวิเคราะห์หาการเจริญเติบโตของพืชในแต่ละจุด การถ่ายภาพทางอากาศโดยใช้ระบบ GPS การพ่นยา การหว่านเมล็ดพันธุ์ และการหว่านปุ๋ย ซึ่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้แรงงานคน ช่วยประหยัดเวลาในการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชและสามารถลดปริมาณการใช้สารเคมี เป็นต้น
             สำหรับประเทศไทย กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตร ได้มีการทดลองนำโดรนมาพ่นสารชีวภัณฑ์ในแปลงผักคะน้า หอม ผักชี นาข้าว และ ไร่อ้อย ซึ่งพบว่า การใช้โดรนพ่นสารชีวภัณฑ์ สามารถลดเวลาในการพ่นเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้แรงงานคนที่ใช้เครื่องสะพายหลังติดเครื่องยนต์ 4 - 5 เท่า และลดปริมาณการใช้สารเคมีลงร้อยละ 30 - 50  อย่างไรก็ตาม โดรนเพื่อการเกษตรที่จำหน่ายในท้องตลาด นับว่ามีราคาสูง โดยราคาอยู่ระหว่าง 219,000 – 330,000 บาท/เครื่อง
              สศก. จึงได้ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาความคุ้มค่าการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ช่วยทำนาในภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการใช้และไม่ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการช่วยทำนา และจากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยนาท ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรที่มีการจ้างบริการโดรนในการพ่นสารกำจัดวัชพืช/แมลงศัตรูพืช และการพ่นฮอร์โมนบำรุงข้าว ซึ่งการใช้โดรนพ่นสามารถลดเวลาลงเมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคน 3 - 5 เท่า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทักษะของผู้ควบคุมโดรน สามารถลดปริมาณการใช้สารเคมีลงร้อยละ 15 - 20 และไม่มีสารตกค้างในตัวผู้ปฏิบัติงาน สำหรับการคิดค่าบริการพ่นสารโดยใช้โดรน จะเท่ากับค่าจ้างแรงงานคน คือไร่ละประมาณ 50 - 80 บาท  แต่กรณีเป็นพื้นที่ห่างไกลจะมีการคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ดังนั้น การใช้โดรนช่วยในการพ่นสารดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรลดเวลาในการพ่น ลดสารเคมี และข้าวไม่เสียหาย
            ด้านเกษตรกรที่ยังไม่มีการจ้างบริการโดรนในการพ่น พบว่า บางส่วนมีความสนใจที่จะจ้างบริการโดรนในการดูแลรักษานาข้าวครั้งต่อไป เนื่องจากเห็นการใช้โดรนพ่นจากพื้นที่นาแปลงใกล้เคียง แต่บางส่วนยังไม่แน่ใจที่จะใช้บริการ เพราะยังขาดความรู้ในการใช้โดรนพ่นสาร และมีพื้นที่ปลูกอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่ใช้บริการโดรนฉีดพ่น ทำให้ไม่พบเห็นการใช้โดรนจากพื้นที่ใกล้เคียง
             สำหรับผู้ประกอบการที่ให้บริการโดรนฉีดพ่นสารที่ทำมาเป็นเวลานาน พบว่า มีความต้องการโดรนพ่นสารเพิ่มขึ้น แต่ยังมี ไม่เพียงพอที่จะให้บริการลูกค้า เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ ในการซื้อโดรนซึ่งมีราคาแพง จึงมีความต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเงินสินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำ ในการจัดซื้อโดรนให้เพียงพอ
              ทั้งนี้ การใช้โดรนช่วยในการทำนา เป็นแนวทางหนึ่ง ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ทดแทนแรงงานคนตามนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากการใช้โดรน สามารถลดเวลาการทำงาน ลดการใช้สารเคมี และไม่ทำให้ผลผลิตเสียหาย อย่างไรก็ตาม เครื่องโดรนและอะไหล่นับว่ายังมีราคาแพง อีกทั้งผู้ควบคุมโดรนต้องมีทักษะและความชำนาญสูง จึงจะสามารถใช้โดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งผู้ประกอบการใช้โดรนหรือกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการซื้อโดรนมาใช้งาน จำเป็นต้องมีเงินทุนและผู้ควบคุมโดรนที่มีความชำนาญ จึงจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลจากการใช้โดรนทางการเกษตร โดยปลายเดือนพฤษภาคมนี้ สศก. จะลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร และอุตรดิตถ์ เพื่อศึกษาข้อมูลความคุ้มค่าการใช้โดรนในการดูแลรักษานาข้าวและจะรายงานผลศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุน ผลตอบแทน จากการใช้และไม่ใช้โดรนในการดูแลรักษานาข้าวในโอกาสต่อไป
***********************************
ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร