- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
แจงทิศทางดัชนีเกษตร รัฐพร้อมมาตรการช่วยเหลือ รองรับสินค้าสำคัญ แก้ปัญหาราคา-ผลผลิต
ข่าวที่ 48/2562 วันที่ 29 เมษายน 2562
แจงทิศทางดัชนีเกษตร รัฐพร้อมมาตรการช่วยเหลือ รองรับสินค้าสำคัญ แก้ปัญหาราคา-ผลผลิต
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยผลวิเคราะห์ดัชนีเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งภาพรวมวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนมีนาคม 2562 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2561 ร้อยละ 4.03 เป็นผลมาจากดัชนีราคาและดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนมีนาคม 2562 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2561 ร้อยละ 2.19 ซึ่งสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และสต็อกน้ำมันปาล์มยังมีค่อนข้างมาก ขณะที่ตลาดชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และถูกแข่งขันจากน้ำมันถั่วเหลือง โดยภาครัฐ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพื่อยกระดับราคา นำน้ำมันปาล์มส่วนเกินไปผลิตกระแสไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ในกลุ่มรถบรรทุกด้วยการอุดหนุนราคาต่ำกว่าดีเซลปกติ (บี 7) และผลักดันการใช้บี 10 เป็นพลังงานทางเลือก
มันสำปะหลัง ราคาลดลงเนื่องจากเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตมาก ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการตามแนวทางบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหามันสำปะหลัง ปี 2561/62 ทั้งระบบ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และ กุ้งขาวแวนนาไม ราคาลดลงเนื่องจากสต็อกกุ้งยังมีมากทำให้ผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อ ประกอบกับภาวะการค้าภายในประเทศทรงตัว ซึ่งจากผลการประชุมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทยครั้งที่ 3/2562 มีแผนขยายการส่งออกกุ้งไปยังตลาด EU และจีน โดยเน้นคัดเลือกกุ้งที่มีคุณภาพจากสหกรณ์การเกษตรที่ได้มาตรฐานห้องเย็นตรงกับเงื่อนไข รวมทั้งการขอความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนรณรงค์ให้ความรู้เกษตรกรในเครือข่ายให้ผลิตกุ้งที่มีคุณภาพปลอดสารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น
ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคม 2562 ได้แก่ สับปะรด ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงงาน ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้ส่งออกมีความต้องการมาก และสุกร ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดภายในประเทศยังคงมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้ผลิต สามารถป้องกันโรคระบาดในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น แต่จากสถานการณ์การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) แพร่ระบาดขยายเป็นวงกว้างขึ้น ครม. จึงได้เห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทยเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแล้ว เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2562 มีแผนใช้จ่ายงบประมาณในปี 2562 - 2564 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 148 ล้านบาท โดยดำเนินการระยะเร่งด่วนในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค สำหรับระยะยาวให้ยกระดับมาตรการการควบคุมป้องกันโรคให้มีมาตรฐานสากล ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนมีนาคม 2562 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2561 ร้อยละ 1.88 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน สับปะรด และหอมแดง ด้านสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน กระเทียม ไก่เนื้อ และไข่ไก่
สำหรับดัชนีรายได้ของเกษตรกรในเดือนเมษายน 2562 คาดว่าลดลงจากเดือนเมษายน 2561 ร้อยละ 0.96 เป็นผล มาจากดัชนีผลผลิตสินค้าปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.65 ได้แก่ อ้อยโรงงาน สับปะรด และหอมแดง เช่นเดียวกับดัชนีราคาที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.31 จากสินค้าสำคัญอ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน หอมแดง กระเทียม และกุ้งขาวแวนนาไม ทั้งนี้ เดือนพฤษภาคม 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะทรงตัว ส่วนดัชนีราคา จะมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีผลผลิตจะยังทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยมีหน่วยงานต่างๆ บูรณาการร่วมและปรับแผนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อรองรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ออกตลาดและมีราคาปรับตัวลดลงในขณะนั้นอย่างต่อเนื่อง
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร