- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
จีดีพี เกษตร Q1 ทรงตัว ขยาย 0.5% เหตุ อ้อยผลผลิตลดลงมาก ตั้งเป้าทั้งปีโต 3%
ข่าวที่ 36/2562 วันที่ 27 มีนาคม 2562
จีดีพี เกษตร Q1 ทรงตัว ขยาย 0.5% เหตุ อ้อยผลผลิตลดลงมาก ตั้งเป้าทั้งปีโต 3%
นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1 ปี 2562 พบว่า ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 1ขยายตัวได้ในระดับต่ำหรือค่อนข้างทรงตัว เป็นผลมาจากอัตราการขยายตัวของสาขาพืชที่ชะลอลงเป็นหลัก (มูลค่าการผลิตของสาขาพืชมีสัดส่วนสูงสุดในภาคเกษตร) อย่างไรก็ตาม การผลิตพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และลำไย ยกเว้นอ้อยโรงงาน ซึ่งมีมูลค่าการผลิตสูงสุดในสาขาพืชในไตรมาสแรก กลับมีผลผลิตลดลงค่อนข้างมาก ด้านการผลิตสินค้าปศุสัตว์โดยรวมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาด รวมทั้งมีการจัดการฟาร์มที่ได้คุณภาพมาตรฐาน ส่วนการผลิตสินค้าประมง ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงเริ่มปรับตัวดีขึ้น และการทำประมงทะเลและการเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมีทิศทางเพิ่มขึ้น สำหรับรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่าสาขาพืช ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สำหรับ ข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกในนาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการดูแลที่เหมาะสม และมีปริมาณน้ำเพียงพอในช่วงการเพาะปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นมาก จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก และปลูกทดแทนพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงานและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากต้นยางพาราที่ปลูกตั้งแต่ปี 2556 โดยปลูกแทนในพื้นที่พืชไร่ พื้นที่นา ไม้ผล และต้นยางพาราที่มีอายุมาก ประกอบกับเนื้อที่กรีดได้ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพาราที่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และต้นปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง ประกอบกับสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอ ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2559 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ และเกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศเหมาะสม เกษตรกรมีการบำรุงดูแลรักษาที่ดี ต้นลำไยจึงออกดอกติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา
ผลผลิตพืชที่ลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้การแตกกอและการเจริญเติบโตของต้นอ้อยไม่สมบูรณ์ ประกอบกับในช่วงปลายปี 2561 มีการเปิดหีบอ้อยเร็วขึ้น ทำให้เกษตรกรบางส่วนเร่งตัดอ้อยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 ถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ทำให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2562 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ยังมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการกำหนดราคารับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท (ความชื้นไม่เกิน 14.5%) ภายใต้โครงการตามนโยบายประชารัฐ และมันสำปะหลังมีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการของตลาดมีอย่างต่อเนื่อง
สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ได้แก่ ข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดต่างประเทศลดลง ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อ อ้อยโรงงาน มีราคาลดลงตามราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากปริมาณน้ำตาลของโลกอยู่ในภาวะล้นตลาด สับปะรดโรงงาน มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังคงมีมากกว่าความต้องการของตลาด ยางแผ่นดิบ มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเนื้อที่เปิดกรีดยางใหม่ ขณะที่ผู้ประกอบการภายในประเทศชะลอการสั่งซื้อยาง รวมถึงผลกระทบจากอุปทานส่วนเกินของผลผลิตยางพาราโลก ปาล์มน้ำมัน มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันออกมาสู่ตลาดมาก รวมทั้งสต็อกน้ำมันปาล์มมีปริมาณสูงกว่าสต็อกเพื่อความมั่นคงที่ประเมินไว้ และลำไย มีราคาลดลง เนื่องจากปริมาณผลผลิตลำไยที่ออกสู่ตลาดจำนวนมากจากการปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่มขึ้น
สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยปริมาณการผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และอาเซียน ขณะที่การท่องเที่ยวและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้นด้วย สุกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสุกรมีชีวิตเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2561 เกษตรกรมีแรงจูงใจในการผลิต ตลอดจนเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มและป้องกันโรคระบาดในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ในจีน และเวียดนาม ทำให้มีการเฝ้าระวังการระบาดของโรค ASF อย่างเข้มงวดมากขึ้น ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น น้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนแม่โคนมและอัตราการให้น้ำนมเพิ่มขึ้นจากแรงจูงใจของราคารับซื้อน้ำนมดิบตามคุณภาพน้ำนม
ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2562 ราคาสุกรเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการผลผลิตได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ราคาไข่ไก่สูงขึ้น เป็นผลจากการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่ภายในประเทศและมาตรการระบายผลผลิตส่วนเกินออกจากระบบ รวมทั้งการจัดทำแผนการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพ ขณะที่ราคาน้ำนมดิบที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นตามคุณภาพและมาตรฐานที่ดีขึ้น ส่วนราคาไก่เนื้อลดลง เนื่องจากมีผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดในปริมาณมาก
สาขาประมง ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือมีทิศทางเพิ่มขึ้น ผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีปริมาณออกสู่ตลาดมากขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี มีการปล่อยลูกกุ้งในอัตราที่เหมาะสม รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ส่วนผลผลิตประมงน้ำจืด เช่น ปลานิล และปลาดุก เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง เพิ่มรอบการเลี้ยง มีการจัดการบ่อที่ดี ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมการเลี้ยงปลานิลและปลาดุกในหลายพื้นที่
ด้านราคา ช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2562 ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม) โดยเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ซึ่งเป็นการลดลงตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย (ขนาด 2-4 ตัวต่อกิโลกรัม) มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคและใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นผลจากการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรในการผลิตข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรในบางพื้นที่ เช่น ภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและประหยัดเวลา รวมถึงมีการใช้บริการโดรนสำหรับฉีดพ่น และสำรวจสภาพผลผลิตในไร่อ้อย มันสำปะหลัง และข้าว มากขึ้น
สาขาป่าไม้ ไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 2.2 เนื่องจากผลผลิตไม้ยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้ผลิตกระดาษ และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (wood pellet) และผลผลิตไม้ยางพาราขยายตัวตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า เพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น ประกอบกับมีความต้องการจากตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่มีความต้องการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ด้านผลผลิตรังนกเพิ่มขึ้น โดยประเทศจีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากรังนกของประเทศไทยมีคุณภาพสูง
ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยทุกสาขาการผลิต ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปีที่ผ่านมา รวมทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ปริมาณน้ำต้นทุนสะสมและแหล่งน้ำธรรมชาติในบางพื้นที่ มีไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร และอาจส่งกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรในระยะถัดไป ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรแสหกรณ์ได้มีติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร
อัตราการเติบโตของภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา | ไตรมาส 1/2561 | ไตรมาส 1/2562 |
(เดือนมกราคม – มีนาคม) | ||
ภาคเกษตร | 6.5* | 0.5 |
พืช | 8.6 | 0.1 |
ปศุสัตว์ | 3.2 | 1.0 |
ประมง | 0.2* | 1.5 |
บริการทางการเกษตร | 4.9 | 2.6 |
ป่าไม้ | 2.1 | 2.2 |
* สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร