ส่องการค้าเกษตร ไทย-ตุรกี สศก. เผย 3 ปี มูลค่าเฉลี่ย 5.6 พันล้านบาท/ปี

               ข่าวที่ 9/2562 วันที่ 23 มกราคม 2562
 
ส่องการค้าเกษตร ไทย-ตุรกี สศก. เผย 3 ปี มูลค่าเฉลี่ย 5.6 พันล้านบาท/ปี  
 
             นายฉันทานนท์  วรรณเขจร  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศตุรกี นับเป็นตลาดคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งมีประชากรกว่า 80 ล้านคน ตั้งอยู่ระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ซึ่งทำให้ไทยสามารถใช้จุดเด่นดังกล่าว ในการกระจายสินค้าเกษตร ไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้  หากมองถึงมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรเฉลี่ยระหว่างไทยและตุรกี 3 ปี ระหว่างปี 2559 – 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 5,600 ล้านบาท/ปี  แบ่งเป็นมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรเฉลี่ย 4,600 ล้านบาท/ปี และมูลค่าการนำเข้า สินค้าเกษตร 1,000 ล้านบาท/ปี 
             ที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าสินค้าเกษตรมาโดยตลอด สินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางธรรมชาติ ยางแผ่นรมควัน อาหารปรุงแต่งเพื่อใช้บริโภค น้ำยางธรรมชาติ และข้าว ส่วนสินค้าเกษตรนำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ แป้งข้าวสาลี น้ำผลไม้ น้ำมันที่ได้จากธัญพืชจำพวกเมล็ดทานตะวัน และเมล็ดดอกคำฝอยหรือเมล็ดฝ้าย ขนมที่ทำจากน้ำตาล และอาหารปรุงแต่ง 
             รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ด้านความตกลงทางการค้าไทยและตุรกี จากผลการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – ตุรกี (Thailand – Turkey Free Trade Agreement : THTRFTA) ครั้งที่ 4  ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา  ณ กรุงเทพมหานคร สามารถสรุปรูปแบบการลดภาษี (Modality) ได้เบื้องต้น เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อเสนอเปิดตลาด (Initial Offer List) และข้อเรียกร้องเปิดตลาด (Initial Request List) ระหว่างกัน  ซึ่งไทยและตุรกี ได้หารือร่างข้อบทการค้าสินค้า และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อร่างข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยการประชุมครั้งที่ 5 จะมีในช่วงเดือนเมษายน 2562 ณ ประเทศตุรกี
             ทั้งนี้ หากการเจรจาบรรลุผล จะทำให้เกษตรกรไทยมีช่องทางการส่งออกเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสเปิดตลาดในตุรกี  ซึ่งถือเป็นประเทศที่เก็บอัตราภาษีสินค้าเกษตรค่อนข้างสูง โดยมีอัตราภาษีสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ระหว่างร้อยละ 25 – 50 โดยขณะนี้ นับว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเจรจา ซึ่ง สศก. จะรายงานความก้าวหน้าให้ทราบเป็นระยะต่อไป 
 
***********************************
ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์ 
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ