- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
‘สมุนไพร-เห็ดฟาง-พืชผักปลอดภัย’ พืชทางเลือกสร้างรายได้ ของเกษตรกรฉะเชิงเทรา
ข่าวที่ 5/2562 วันที่ 8 มกราคม 2562
‘สมุนไพร-เห็ดฟาง-พืชผักปลอดภัย’ พืชทางเลือกสร้างรายได้ ของเกษตรกรฉะเชิงเทรา
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุดของจังหวัดฉะเชิงเทรา (TOP 4) ได้แก่ ข้าวนาปี มะม่วงน้ำดอกไม้ กุ้งขาวแวนนาไม และปลากะพง โดยพบว่า เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) จากการผลิต ข้าวนาปี ในพื้นที่มีความเหมาะสมมาก (S1) และปานกลาง (S2) เฉลี่ย 1,822 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,444 บาท/ไร่ มะม่วงน้ำดอกไม้ ให้ผลตอบแทนสุทธิ 13,738 บาท/ไร่ กุ้งขาวแวนนาไม มีผลตอบแทนสุทธิ 17,711 บาท/ไร่ และปลากะพง มีผลตอบแทนสุทธิ 63,519 บาท/ไร่ ทั้งนี้ ในส่วนของมะม่วงน้ำดอกไม้ กุ้งขาวแวนนาไม และปลากะพง ไม่ได้แยกพื้นที่ความเหมาะสมจากการเปรียบเทียบผลตอบแทนสุทธิการผลิตในพื้นที่เหมาะสม (S1/S2) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) สำหรับการปลูกข้าว เพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นแนวทางเชิงนโยบายและมาตรการในการสนับสนุนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรตามแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri - Map) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า พื้นที่มีความเหมาะสม (S1/S2) สำหรับปลูกข้าว มีจำนวน 1,169,706 ไร่ และพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) สำหรับปลูกข้าว จำนวน 130,056 ไร่ สำหรับสินค้าทางเลือกเพื่อปรับเปลี่ยนนาข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3/N) เกษตรกรสามารถเลือกปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพื่อเสริมรายได้ในครัวเรือน เป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย และมีตลาดรองรับแน่นอน ซึ่งได้แก่
พืชสมุนไพร/เครื่องเทศ อาทิ ข่า ต้นทุนการผลิต 11,949 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 46,278 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 34,329 บาท/ไร่ ตะไคร้ ต้นทุนการผลิต 9,281 บาท/ไร่ ผลตอบแทน 20,868 บาท/ไร่ คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 11,586 บาท/ไร่ ซึ่งผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเครื่องเทศปรุงรสอาหาร หรือตลาดบริโภคในจังหวัดและนอกจังหวัด จะมีพ่อค้าเข้ารับซื้อถึงในแหล่งผลิต ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งอีกด้วย
การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนระบบปิด ต้นทุนการผลิต 266,223 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทน 346,752 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 80,528 บาท/ไร่/ปี (1 ไร่ สามารถปลูกโรงเรือนได้ 6 - 7 โรง) สามารถเก็บขายเมื่ออายุได้ 15 วัน และพ่อค้าเข้ารับซื้อถึงแหล่งผลิต
พืชผักปลอดภัย (กางมุ้ง) อาทิ ผักกวางตุ้ง มีต้นทุนการผลิต 9,246 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทน 27,328 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 18,081 บาท/ไร่/ปี ผักคะน้า มีต้นทุนการผลิต 10,225 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทน 29,342 บาท/ไร่/ปี คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิ 19,117 บาท/ไร่/ปี โดยเกษตรกรสามารถควบคุมการผลิต ลดปัญหาสินค้าล้นตลาด โดยเฉลี่ยของผักประมาณ 45 วัน/รุ่น สามารถเก็บจำหน่ายได้แล้ว และเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ หากเกษตรกรต้องการปรับเปลี่ยนการผลิต ควรวางแผนการผลิต ศึกษาต้นทุนและผลตอบแทน ระยะการปลูกหรือเลี้ยง จนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยมีข้อมูลสนับสนุนความต้องการของตลาด โดยเกษตรกร หรือท่านที่สนใจข้อมูลสินค้าทางเลือกในพื้นที่ หรือข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่สำคัญ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 โทร. 0 3835 1398 หรือ zone6@oae.go.th
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี