- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เคาะตัวเลขพยากรณ์รอบแรก ไม้ผลตะวันออก ปี 62 สศก. คาด ผลผลิตรวม 4 ชนิดกว่า 8.6 แสนตัน
ข่าวที่ 136/2561 วันที่ 13 ธันวาคม 2561
เคาะตัวเลขพยากรณ์รอบแรก ไม้ผลตะวันออก ปี 62 สศก. คาด ผลผลิตรวม 4 ชนิดกว่า 8.6 แสนตัน
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง การบูรณาการจัดทำข้อมูลปริมาณการผลิตไม้ผลเอกภาพรอบที่ 1 ปี 2562 ซึ่ง สศก. ร่วมมือกับคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ประกอบด้วย สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 (สสก.3) จังหวัดระยอง สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และกลุ่มไม้ผล กรมส่งเสริมการเกษตร พิจารณาผลพยากรณ์ไม้ผลภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ของสินค้า 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง และตราด เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนบริหารจัดการผลไม้ตั้งแต่ต้นฤดูสำหรับผลพยากรณ์ปี 2562 ครั้งที่ 1 (ข้อมูล ณ 7 ธันวาคม 2561) พบว่า เนื้อที่ยืนต้น ของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 691,521 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 678,203 ไร่ (เพิ่มขึ้น 13,318 ไร่ หรือร้อยละ 1.96) โดยทุเรียนเพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 4.57 เงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.46 มังคุด ลดลงร้อยละ 0.15 และลองกอง ลดลงร้อยละ 3.45
เนื้อที่ให้ผล ทั้ง 4 ชนิด มีจำนวน 630,968 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 615,172 ไร่ (เพิ่มขึ้น 15,796 ไร่ หรือ ร้อยละ 2.57) โดยทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.54 มังคุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.82 เงาะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.19 ส่วนลองกอง ลดลงร้อยละ 1.86
ผลผลิตรวม ทั้ง 4 สินค้า คาดว่าจะมีประมาณ 863,258 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 667,025 ตัน (เพิ่มขึ้น 196,233 ตัน หรือ ร้อยละ 29.42) โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งคาดว่าผลผลิตรวมของทั้ง 4 สินค้าจะเพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยมังคุด จะเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 120.06 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต้นมีเวลาพักสะสมอาหารนาน รองลงมาได้แก่ ลองกอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.98 ทุเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.49 และ เงาะ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.26 ด้านผลผลิตต่อไร่ ทั้ง 4 ชนิด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ประกอบกับในปีที่ผ่านมาไม้ผลบางชนิดไม่ติดผลหรือผลผลิตน้อย ทำให้มีเวลาในการพักต้นสะสมอาหารต้นสมบูรณ์ขึ้นส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะผลผลิตต่อไร่ของมังคุด และลองกอง คาดว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับในช่วงปลายปี 2561 สภาพอากาศมีความเหมาะสม กระตุ้นให้สามารถติดดอกออกผลได้มากยิ่งขึ้น
ด้านนายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการ สศท.6 กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ทุเรียน ออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 60 ผลผลิตที่ติดในช่วงแรกเป็นทุเรียนพันธุ์เบาและทุเรียนที่ใช้สารกระตุ้นการออกดอก โดยจะเป็นพันธุ์กระดุมและหมอนทอง ซึ่งบางส่วนจะทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป ส่วนผลผลิตจะออกมากช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม เงาะ ออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 20 จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตรอบแรกได้ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2562 ในพื้นที่จังหวัดตราด มังคุด ออกดอกแล้วประมาณร้อยละ 8 ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะปากนกแก้ว หากมีฝนตกจะออกใบอ่อนแทนการออกดอก ทั้งนี้ สามารถเก็บผลผลิตรุ่นแรกได้ในช่วงเดือนปลายมีนาคม 2562 จะออกชุกช่วงปลายพฤษภาคม ต่อเนื่องถึงมิถุนายน 2562 ส่วนลองกอง สถานการณ์ขณะนี้ยังคาดการณ์การออกดอกไม่ชัดเจน ซึ่งลองกองสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี หากสภาพต้นสลดขาดแคลนน้ำ แต่เนื่องจากในช่วงปลายปี 2561 มีฝนตกอย่างสม่ำเสมอ ต้นลองกองยังไม่สลด จึงยังไม่มีพัฒนาการออกดอก
อย่างไรก็ตาม สภาพดิน ฟ้า ที่อากาศแปรปรวนอาจทำให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้อีก เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศในช่วงแรกของภาคตะวันออกที่มีฝนตกทิ้งช่วงไปเร็วกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อการติดดอกออกผล โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเงาะ ที่ออกดอกเร็วขึ้น จึงเริ่มเห็นพัฒนาการที่ชัดเจน และจะเห็นผลได้ชัดเจนอีกครั้งหลังกลางเดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป และหลังจากนี้ สศท.6 จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีกำหนดลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เพื่อวางแผนบริหารจัดการผลไม้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป สำหรับท่านที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูล ไม้ผลภาคตะวันออกเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี โทร. 0 3835 2435 หรืออีเมล zone6@oae.go.th
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี