- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
ตามติดผลต่อเนื่อง ส่งเสริมอาชีพเกษตรในชายแดนใต้ เสริมความเข้มแข็ง พัฒนาอาชีพเกษตรในพื้นที่
ข่าวที่ 131/2561 วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561
ตามติดผลต่อเนื่อง ส่งเสริมอาชีพเกษตรในชายแดนใต้ เสริมความเข้มแข็ง พัฒนาอาชีพเกษตรในพื้นที่
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่อง ในกิจกรรมศักยภาพการผลิต การตลาด และการแปรรูปของสถาบันเกษตรกร ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 - 2558 ซึ่งมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกของเครือข่ายในพื้นที่เกิดความเข้มแข็ง พัฒนาและฟื้นฟูอาชีพภาคเกษตรให้สอดคล้องกับศักยภาพและพื้นที่ที่ประกอบอาชีพปศุสัตว์และประมง ในการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกของสถาบันเกษตรกรให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนของสมาชิก โดยกำหนดเป้าหมายเครือข่ายกลุ่มอาชีพการเกษตร และสถาบันเกษตรกรในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา จากการติดตามผลของโครงการในระยะต่อเนื่อง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา (สศท.9) ลงพื้นที่ช่วงเดือนมิถุนายน 2561 ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา (อำเภอจะนะ นาทวี สะบ้าย้อย และเทพา) สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องการสนับสนุนเงินทุนแก่สถาบันเกษตรกร 5 จังหวัด รวม 15 ราย และสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 จังหวัด ในกลุ่มอาชีพผู้เลี้ยงโค ซึ่งเป็นสหกรณ์ 18 สหกรณ์ตัวอย่าง พบว่า
เกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์การเลี้ยงโค โดยเฉลี่ย 7 ปี เกษตรกร ร้อยละ 95 นำความรู้ที่ได้รับจากการถ่ายทอดไปปฏิบัติ ส่งผลกลุ่มเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 85 มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินกิจกรรม โดยเป็นรายได้จากการขายโคตัวผู้ และมูลโคกระสอบละ 30 - 50 บาท และเกษตรกรบางรายนำสัตว์ไปปล่อยเลี้ยงไว้ในสวนเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย ส่วนเกษตรกรร้อยละ 15 ยังไม่มีรายได้เพิ่ม เนื่องจากยังไม่ต้องการขายโค เพราะเป็นโคตัวเมีย ซึ่งตั้งใจจะเลี้ยงเพื่อเพิ่มแม่พันธุ์ อีกทั้ง เกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมดทุกราย ยังร่วมกันจัดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการลดต้นทุนของกลุ่มอาชีพที่ตนเองสังกัดอยู่ โดยสมาชิก ร้อยละ 71 สามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ เพราะเกษตรกรเปลี่ยนมาใช้มูลโคแทนการซื้อปุ๋ยมาใส่ในสวนของตนเองเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย และลดการใช้สารเคมี ทั้งนี้ เกษตรกรที่เหลือ ร้อยละ 29 มีความรู้สึกว่าต้นทุนการผลิตไม่ลดลงเท่าที่ควร เนื่องจากเกษตรกรยังคงต้องใช้ปริมาณปุ๋ยเท่าเดิม และปริมาณมูลโคมีไม่เพียงพอกับความต้องการ
ด้านนายสุธรรม ธรรมปาโล ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม ยังคงดำเนินกิจกรรมมาต่อเนื่อง มีรายได้จากกิจกรรม เช่น การขายโค และมูลสัตว์ ซึ่งใน ปีที่ 1 (ระหว่าง 1 ต.ค.58 - 30 ก.ย.59) มีรายได้เฉลี่ย 24,710 บาท/ราย ปีที่ 2 (ระหว่าง 1 ต.ค. 59 - 30 ก.ย. 60) มีรายได้เฉลี่ย 30,502 บาท/ราย และ ปีที่ 3 (ระหว่าง 1 ต.ค. 60 - ปัจจุบัน) มีรายได้เฉลี่ย 2,282 บาท/ราย โดยสินทรัพย์ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมเพิ่มศักยภาพการผลิตการตลาดและการแปรรูปของสถาบันเกษตร ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ปัจจุบัน เฉลี่ย คงเหลือ ลูกโค 1 ตัว และแม่โค 1 ตัว /ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 30,487 บาท ซึ่งเกษตรถือว่าเป็นเงินเก็บของครอบครัว เมื่อมีความต้องการหรือจำเป็นใช้เงินจึงจะนำโคไปจำหน่าย
ความพึงพอใจของเกษตรกรผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีระดับความพึงพอใจภาพรวมในระดับมาก ทั้งด้านการสนับสนุนปัจจัยการผลิต สนับสนุนด้านองค์ความรู้ การติดตาม/ตรวจเยี่ยมของเจ้าหน้าที่ และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ ท่านที่สนใจสอบถามผลการดำเนินโครงการเพิ่มเติมหรือข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรในพื้นที่ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา โทร. 0 7431 2996 อีเมล zone9@oae.go.th
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 จังหวัดสงขลา