- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เกาะติดโคเนื้อปี 61 รุกแนวทางพัฒนา พร้อมรับมือการเปิดเสรีการค้า จับตาทิศทางส่งออกไทย
ข่าวที่ 91/2561 วันที่ 28 สิงหาคม 2561
เกาะติดโคเนื้อปี 61 รุกแนวทางพัฒนา พร้อมรับมือการเปิดเสรีการค้า จับตาทิศทางส่งออกไทย
สศก. เผย สถานการณ์โคเนื้อปี 61 จำนวนโคเนื้อทั้งประเทศ 4.92 ล้านตัว ระบุ แม้การผลิตโคเนื้อจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคในประเทศ ด้านกระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้าเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมการเลี้ยงโค จัดทำยุทธศาสตร์โคเนื้อ ปี 61-65 พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้าด้วยกองทุน FTA
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์โคเนื้อของไทยในปี 2561 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ เดือน มิถุนายน 2561) พบว่า มีจำนวนโคเนื้อในประเทศทั้งหมด 4.92 ล้านตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.89 และจากการติดตามสถานการณ์ด้านปศุสัตว์ของ สศก. พบว่า แม้การผลิตโคเนื้อ และเนื้อโคคุณภาพ จะเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ ส่งผลให้ไทยต้องมีการนำเข้าเนื้อโคคุณภาพจากต่างประเทศโดยเฉพาะออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม จากการลดอัตราภาษีนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) และนิวซีแลนด์ (Thailand - New Zealand Closer Economic Partnership : TNZCEP) เหลือร้อยละ 0 ที่จะมีขึ้นในปี 2564 อาจส่งผลกระทบต่อราคาโคเนื้อและเนื้อโคคุณภาพในประเทศลดลง ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ ได้มีโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อหลายโครงการ เช่น โครงการโคบาลบูรพาโครงการโคเนื้อสร้างอาชีพ เป็นต้น เพื่อเพิ่มผลผลิตโคเนื้อเข้าสู่ตลาด และได้จัดทำยุทธศาสตร์โคเนื้อ (ปี 2561-2565) เพื่อรองรับผลกระทบจากการลดอัตราภาษีนำเข้าเนื้อโค และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยมีเป้าหมาย คือ ความมั่นคงทางอาหาร พึ่งพาตนเองได้ มีประชากรโคเนื้อเพื่อใช้บริโภคอย่างเพียงพอและส่งออก ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันในหลายภาคส่วน ในการเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีการค้า ทั้งการการเพิ่มศักยภาพการผลิตโคต้นน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การส่งเสริมสุขภาพโคเนื้อ การสร้างมาตรฐาน การสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และการตลาดนำการผลิต
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยหนุนที่จะช่วยผลักดัน คือ โครงการรถไฟ สปป.ลาว-จีน ที่จะเริ่มใช้ในปี 2565 ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้มีการส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถส่งออกโคมีชีวิตและเนื้อโคไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนทางรถไฟได้สะดวกมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้พร้อมให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในการเพิ่มศักยภาพธุรกิจสำหรับสินค้าโคเนื้อตั้งแต่ปี 2550 งบประมาณรวม 154.75 ล้านบาท อาทิ โครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพสูง โครงการเพิ่มมูลค่าเนื้อโคขุนเกรดคุณภาพ (Premium) เพื่อรองรับตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันซึ่งผลจากการดำเนินการตามโครงการต่างๆ ได้ช่วยให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตโคเนื้อและเนื้อโคเพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ส่งผลช่วงปี 2556 - 2560 ไทยสามารถผลิตเนื้อโคได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.78 ต่อปีขณะที่สัดส่วนผลผลิตภายในประเทศต่อความต้องการบริโภคขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 73.88 ในปี 2556 มาเป็นร้อยละ 76.40 ในปี 2560
นอกจากนี้ ยังมีโครงการโคเนื้อที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารกองทุน FTA เพิ่มเติมอีก ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโคเนื้อ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเลี้ยงโคเนื้อบ้านแสนแก้ว โครงการพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดโคเพื่อรองรับ FTA ของกรมปศุสัตว์ และ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้แก่กลุ่มเกษตรกร เพื่อศึกษาสมรรถนะการขุนโคเนื้อเชิงการค้ารองรับการเปิดเขตการค้าเสรี ของกรมปศุสัตว์ โดยเกษตรกรและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีดังกล่าว สามารถเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนจากกองทุน โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 0 2561 4727 และ www2.oae.go.th/FTA หรือ E-mail : fta@oae.go.th
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร