- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
ไทยโชว์นโยบายตลาดนำการผลิต ยกระดับความมั่นคงอาหารของไทย ในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค
ข่าวที่ 90/2561 วันที่ 27 สิงหาคม 2561
ไทยโชว์นโยบายตลาดนำการผลิต ยกระดับความมั่นคงอาหารของไทย ในเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค
สศก. ร่วมประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค ในช่วงสัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค ณ กรุงพอร์ต มอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี เผย ปีนี้เน้นการเพิ่มบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรและอาหาร ด้าน สศก. โชว์ผลดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารของไทย ด้วยนโยบายตลาดนำการผลิต เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เสริมความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกัน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ซึ่ง สศก. ได้เข้าร่วมประชุมเชิงวิชาการในช่วง “สัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค (Food Security Week)” ระหว่างวันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2561 ณ กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี ซึ่งประกอบด้วยการประชุมด้านต่างๆ ได้แก่ 1) การประชุมคณะทำงานว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านการเกษตร 2) การประชุมหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร 3) การประชุมเชิงนโยบายในหัวข้อ Policy Dialogue on Women in Agriculture and Fisheries เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรและประมง และ 4) การประชุม Enhancing Market Entry for MSMEs including Micro, Small and Medium Holders เพื่อหารือถึงแนวทางในการเพิ่มช่องทางเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย
สำหรับการประชุมในช่วง “สัปดาห์ความมั่นคงอาหารเอเปค” ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มบทบาทของสตรีในภาคการเกษตรและอาหาร โดยมีข้อเสนอแนวทางสำคัญๆ เช่น การกำหนดนโยบายภาครัฐเพื่อส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทนำในสังคมและชุมชน การเพิ่มขีดความสามารถของสตรีด้านองค์ความรู้ที่จำเป็นด้านการเกษตรและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมให้สตรีมีความเป็นผู้นำและบทบาทในการตัดสินใจ
เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการประชุมด้านหุ้นส่วนเชิงนโยบายด้านความมั่นคงอาหาร นับเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงอาหารของภูมิภาค ซึ่ง สศก. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินการด้านความมั่นคงอาหารของไทย โดยยกตัวอย่างนโยบายตลาดนำการผลิตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นแนวคิดการบริหารจัดการสินค้าเกษตรในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
นอกจากนี้ ได้นำเสนอถึงการดำเนินการของกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย โดยยกตัวอย่าง โครงการ “ปลูก ขาย ใช้” สินค้าเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่โรงพยาบาล ร่วมด้วยผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้นำเสนอผลสำเร็จของการดำเนินโครงการร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ การดำเนินงานในเรื่องป่าชุมชนของจังหวัดสกลนคร โครงการเลี้ยงปลาในบ่อบำบัด โดยการใช้ระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อลดมลพิษของการเลี้ยงปลาในกระชัง และเทคนิคการปลูกข้าวใช้น้ำน้อย ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนและเพิ่มผลผลิต
ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของฉันทามติ ความสมัครใจ และไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย มุ่งการเติบโตทางการค้าและการลงทุน และให้ความสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถของสมาชิกเอเปคในสาขาต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีนฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ