- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เกษตรฯ เร่งแก้วิกฤตสับปะรด หลังราคาดิ่ง วางมาตรการรอบด้านพร้อมรับมือผลผลิตกระจุกปลายปี
ข่าวที่ 70/2561 วันที่ 29 มิถุนายน 2561
เกษตรฯ เร่งแก้วิกฤตสับปะรด หลังราคาดิ่ง วางมาตรการรอบด้านพร้อมรับมือผลผลิตกระจุกปลายปี
เกษตรฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาสับปะรด หลังราคาตกต่ำ ร่วมมือทุกภาคี วางมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน พร้อมวางหมากระยะยาวเพื่อบริหารจัดการทั้งด้านการผลิต การตลาด และแปรรูป ด้าน สศก. ระบุ กรกฎาคม สถานการณ์ราคากระเตื้องขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วมากกว่าร้อยละ 60 โดยจะกระจุกตัวอีกครั้งช่วงปลายปี เชื่อมั่น มาตรการและแนวทางจะแก้ไขปัญหาได้แน่นอน
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สับปะรดในปี 2561 พบว่า ผลผลิตทั้งประเทศรวม 2.248 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.136 ล้านตันในปี 2560 เนื่องจากปี 2558 มีภาวะภัยแล้งทำให้ราคาช่วงปี 2558 - 2559 อยู่ในเกณฑ์สูงเกษตรกรจึงขยายพื้นที่ปลูกประกอบกับปี 2560 ปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้มีผลผลิตสับปะรดเพิ่มขึ้นทั้งนี้ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนของปีนี้ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากเฉลี่ยประมาณวันละ 10,000 - 12,000 ตันขณะที่โรงงานแปรรูปสามารถรับซื้อได้เฉลี่ยประมาณวันละ 8,000 ตันเท่านั้น ทำให้มีผลผลิตส่วนเกินและส่งผลให้ราคาสับปะรดโรงงานที่เกษตรกรขายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ลดลงสอดคล้องกับสถานการณ์ราคาตลาดโลกเนื่องจากผลผลิตกว่าร้อยละ 90ของสับปะรดจะถูกแปรรูปและส่งออกทำให้ราคาซื้อขายสับปะรดภายในประเทศอิงอยู่กับราคาส่งออกโดยปี 2560 - 2561 การส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผลผลิตสับปะรดโลกที่เพิ่มขึ้นและผู้ซื้อต่างประเทศบางส่วนหันไปนำเข้าสับปะรดจากประเทศคู่แข่งของไทย เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแทน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดได้ช่วยกันเร่งแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องอาทิ การนำสับปะรดไปทำอาหารหมักสำหรับเลี้ยงโคเนื้อและโคนมโดยกรมปศุสัตว์ที่ร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ การจัดงานส่งเสริมการบริโภคสับปะรดโดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) การกระจายผลผลิตสับปะรดออกนอกแหล่งผลิตเพื่อการบริโภคโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตร การนำสับปะรดไปทำปุ๋ยอินทรีย์/ปุ๋ยหมักโดยกรมพัฒนาที่ดิน ขณะเดียวกันสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดงานส่งเสริมการบริโภคสับปะรดเพื่อรณรงค์การบริโภคสับปะรด และขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม สถานศึกษา สถานพยาบาล เรือนจำ นำผลผลิตสับปะรดมาใช้ในการประกอบอาหาร
สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาสับปะรดในระยะยาวประกอบด้วย ด้านการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการผลิตสับปะรดเตรียมผลักดันการขับเคลื่อนแผนงานตามยุทธศาสตร์ด้านการผลิตและการบริหารจัดการ ระยะที่ 1 (ปี 2561- 2564) ตามพื้นที่เพาะปลูกปัจจุบัน ดังนี้ 1) กำหนดให้พื้นที่ในกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบโรงงานไม่เกิน 100 กิโลเมตรเป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดส่งเข้าโรงงานจำนวน 12 จังหวัด พร้อมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเกษตรพันธสัญญาซื้อขายสับปะรดโรงงานเพื่อผลักดันการจัดทำเกษตรพันธสัญญา (Contract farming) ระหว่างเกษตรกรและโรงงานแปรรูป และ 2)กำหนดให้พื้นที่เพาะปลูกที่เหลือ 15 จังหวัด เป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดบริโภคผลสด พร้อมสร้างตราสัญลักษณ์สินค้า (Brand Name) และจดทะเบียนเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยเชื่อมโยงตลาดผ่านกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้ส่งออก/Modern Trade/การค้าชายแดน เป็นต้นด้านการตลาด กระทรวงพาณิชย์ในฐานะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและการส่งออกสับปะรด ได้กำหนดแนวทางการกระจายผลผลิตสับปะรดส่วนเกินออกนอกแหล่งผลิต พร้อมเชื่อมโยงการค้าระหว่างผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าในต่างประเทศ รวมถึงการขยายปริมาณการส่งออกสับปะรดในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G)เพิ่มขึ้น
ด้านการแปรรูปกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานในการศึกษาวิจัยและส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด การส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การควบคุมคุณภาพบรรจุภัณฑ์สับปะรดให้ได้มาตรฐานและยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ใหม่และการใช้ประโยชน์จากสิ่งเหลือใช้จากกระบวนการผลิตรวมทั้งมีมาตรการสนับสนุนโดยการให้สิทธิประโยชน์หรือมาตรการจูงใจเพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรด
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป สถานการณ์ราคาสับปะรดจะกระเตื้องขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไปแล้วกว่าร้อยละ 60 โดยเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกในปีนี้อีกประมาณ 0.825 ล้านตัน แต่ผลผลิตอาจจะกระจุกตัวอีกครั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ซึ่งเชื่อมั่นว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีแผนบริหารจัดการเพื่อรับมือปัญหาไว้เรียบร้อยแล้ว
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร