สศก. เจ้าภาพ เปิดเวทีรวม 5 ชาติอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือมันสำปะหลังในภูมิภาค

ข่าวที่ 58/2561 วันที่ 28 พฤษภาคม 2561
สศก. เจ้าภาพ เปิดเวทีรวม 5 ชาติอาเซียน ส่งเสริมความร่วมมือมันสำปะหลังในภูมิภาค
     สศก. เจ้าภาพหลัก จัดประชุมคณะทำงานส่งเสริมสินค้ามันสำปะหลังอาเซียน ครั้งที่ 4 หารือแนวทางความร่วมมือในภูมิภาค หวังปูทางอำนาจการต่อรองกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยและอาเซียน รุกเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ยืนหยัดแชมป์ ในฐานะผู้ส่งออกอันดับ 1 ของตลาดโลก
     นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะทำงานส่งเสริมสินค้ามันสำปะหลังอาเซียน ครั้งที่ 4 (The 4th Meeting of National Focal Point Working Group on Tapioca: NFPWG on Tapioca) เมื่อวันที่ 2 – 3 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์อุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่ง สศก.  เป็นเจ้าภาพจัดประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันภายในอาเซียน ทั้งในด้านของการผลิต การตลาดสินค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์  และร่วมกันปรับปรุงข้อมูลกิจกรรมการดำเนินงานภายใต้แผนปฏิบัติงานเชิงกลยุทธ์สินค้ามันสำปะหลังของประเทศสมาชิกอาเซียน (Strategic Plan of Action of NFPWG on Tapioca 2015 – 2019 : SPA 2015 – 2019) ให้เป็นปัจจุบัน
     การประชุมดังกล่าว มีรองเลขาธิการ สศก. โดยนายฉันทานนท์ วรรณเขจร เป็นประธาน มีผู้แทนจากประเทศอาเซียน เข้าร่วมประชุม 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม โดยในส่วนของไทย มีหน่วยงานจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร  กรมส่งเสริมการเกษตร   กรมส่งเสริมสหกรณ์ และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ   ร่วมด้วยภาคเอกชน ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย และบริษัท ไทยนำมันสำปะหลัง จำกัด ทั้งนี้ 5 ประเทศอาเซียนได้นำเสนอ Country Report เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต และการค้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และข้อคิดเห็นแนวทางในภูมิภาคร่วมกัน
          เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า จากการรายงานข้อมูลปี 2558 – 2560 ประเทศ ไทย กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม    มีแนวโน้มเนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ ทั้งในด้านการวิจัย การพัฒนาพันธุ์ การปรับปรุงบำรุงดินที่ใช้เพาะปลูก การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน เน้นการผลิตเพื่อมุ่งเน้นการส่งออกเป็นหลัก ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งนำเข้าจากไทยกว่าร้อยละ 80
     สำหรับการผลิต ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของไทย (ปี 2557-2560) พบว่า ประเทศไทยมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.11 ต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 8.431 ล้านไร่ ในปี 2557 เป็น 8.714 ล้านไร่ ในปี 2560 ในขณะที่ผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.09 ต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 30.022 ล้านตันในปี 2557 เป็น 30.495 ล้านตัน ในปี 2560 โดยส่วนใหญ่ผลผลิตมันสำปะหลังของไทยเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทั้งหมด แปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อาหาร อาหารสัตว์ สารความหวาน ผงชูรส กระดาษ สิ่งทอ เป็นต้น 
     ทั้งนี้ ไทยถือได้ว่าเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกหลักของอาเซียนและตลาดโลก โดยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก และยังเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 1 ของอาเซียน (เป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก รองจากไนจีเรีย) ดังนั้น การสร้างความร่วมมือภายในอาเซียนจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการรวมตัวของประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลัง เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองกับประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลักของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังของไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนในปัจจุบัน ซึ่งผลการประชุมครั้งนี้ จะรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วม (The Joint Committee Meeting: JCM) ภายใต้บันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ (MoU on ASEAN Co-operation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme) และที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการเกษตรและป่าไม้อาเซียน (Senior Officials Meeting – ASEAN Ministers of Agriculture and Forestry: SOM – AMAF) ต่อไป
***********************************
ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์ 
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
และสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร