- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เปิดข้อมูล นาปี-สับปะรด-ปาล์ม-ยาง แจงเนื้อที่ผลผลิต กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน
ข่าวที่ 110/2560 วันที่ 24 สิงหาคม 2560
เปิดข้อมูล นาปี-สับปะรด-ปาล์ม-ยาง แจงเนื้อที่ผลผลิต กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 เผยผลการประชุมข้อมูลคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืช ภาคใต้ ครั้งที่ 2/2560 แจงเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิตใน 4 สินค้าสำคัญ ข้าวนาปี สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน เตรียมชงข้อมูลเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชต่อไป
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประชุมคณะทำงานพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืช ภาคใต้ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี (นายธรณิศร กลิ่นภักดี) เป็นประธานการประชุม และได้ร่วมกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์วิจัยข้าว ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว สำนักงานพัฒนาการเกษตรที่ 8 การยางแห่งประเทศไทยจังหวัด ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันกระบี่ ร่วมกันพิจารณาข้อมูลข้าวนา ปี 2559/60 สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปี 2559
ที่ประชุมให้การรับรองข้อมูลข้าวนาปี ปี 2559/60 สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปี 2559 (ข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2560) ใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง ภูเก็ต กระบี่ และพังงา พบว่า
ข้อมูลข้าวนา ปี 2559/60 รวมเนื้อที่เพาะปลูก 238,808 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 205,239 ไร่ ผลผลิต 94,395 ตัน
ปาล์มน้ำมัน ปี 2559 เนื้อที่ยืนต้นรวม 3,966,773 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,414,003 ไร่ ผลผลิต 9,315,461 ตัน
ยางพารา ปี 2559 เนื้อที่ยืนต้นรวม 6,651,674 ไร่ เนื้อที่กรีด 5,773,528 ไร่ ผลผลิต 1,447,937 ตัน
สับปะรดโรงงาน ปี 2559 (5 จังหวัด) จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง และกระบี่ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวรวม 5,958 ไร่ ผลผลิต 25,589 ตัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อมูลยางพาราจังหวัดภูเก็ต ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ จะเข้าร่วมตรวจสอบข้อมูลเนื้อที่ยืนต้นของอำเภอถลางอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับของคณะทำงานฯ
ทั้งนี้ การจัดทำข้อมูล สศก. จะพัฒนาและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) มาบูรณาการร่วมกับระบบการขึ้นทะเบียนของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ข้อมูล มีความเป็นเอกภาพ ชัดเจน เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ โดยข้อมูลการประชุมครั้งนี้ ฝ่ายเลขานุการคณะทำงานฯ จะนำข้อมูลเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพข้อมูลด้านพืชต่อไป
**********************************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี