- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
แจงผลโครงการปุ๋ยพืชสด เกษตรกรตอบรับ รัฐเดินหน้าต่อเนื่องปี 60/61
ข่าวที่ 89/2560 วันที่ 20 กรกฎาคม 2560
แจงผลโครงการปุ๋ยพืชสด เกษตรกรตอบรับ รัฐเดินหน้าต่อเนื่องปี 60/61
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลประเมินโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด แจง ภาพรวมเกษตรกรพึงพอใจในระดับมาก มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไปปลูกพืชปุ๋ยสด 194,510 ไร่ หรือร้อยละ 97 ของเป้าหมาย สามารถช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุเป็นอย่างดี และคุ้มค่าในการปลูก
นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประเมินโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด เพื่อลดพื้นที่การปลูกข้าวในฤดูนาปรังปี 2560 ไปผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และปรับปรุงบำรุงดิน ในพื้นที่ 19 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมีเป้าหมาย 200,000 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 12,477 ราย ซึ่งมีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานระหว่างพฤศจิกายน 2559 - มิถุนายน 2560 ใช้งบประมาณและงบกลาง จำนวน 189.27 ล้านบาท
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้ประเมินผลโครงการดังกล่าว โดยสำรวจและสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ และเกษตรกรในโครงการที่ตกเป็นตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 229 ราย พบว่า มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาไปปลูกพืชปุ๋ยสดได้ใกล้เคียงเป้าหมาย คือมี พื้นที่ปลูกพืชปุ๋ยสด 194,510 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 97 ของเป้าหมาย เกษตรกรได้รับเงินค่าไถเตรียมดิน 97.26 ล้านบาท ครบตามเป้าหมายพื้นที่ มีพื้นที่ไถกลบพืชปุ๋ยสด 124,347 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 64 ของพื้นที่โครงการ เกษตรกรได้รับเงินค่าไถกลบแล้ว 60.75 ล้านบาท ส่วนพื้นที่ปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ปอเทือง มีจำนวน 48,720 ไร่
การถ่ายทอดความรู้ระหว่างการแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ปอเทือง เกษตรกรร้อยละ 88 ได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเมล็ดพันธุ์ ซึ่งร้อยละ 97 ได้ความรู้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยปลูกปอเทืองมาก่อน และ ร้อยละ 63 ยังต้องการความรู้เรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม
ในภาพรวมเกษตรกรพึงพอใจต่อโครงการในระดับมาก เนื่องจากโครงการได้ก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดสามารถประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงบำรุงดินในรอบการผลิตต่อไปคิดเป็นมูลค่า 62.17 ล้านบาท และเกษตรกรร้อยละ 6.5 ที่สามารถขายเมล็ดพันธุ์ปอเทืองในโครงการมีเงินได้ถึง 2.33 ล้านบาท นอกจากนั้นเกษตรกรทุกรายได้รับเงินจากการสนับสนุนค่าไถ และค่าเมล็ดพันธุ์ เฉลี่ย 7,795 - 16,390 บาทต่อครัวเรือน จากพื้นที่ร่วมโครงการ 15.58 ไร่ต่อครัวเรือน
ผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เกษตรกรร้อยละ 83 เห็นว่า สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดินจากการ ไถซากพืชปุ๋ยสด ทำให้ดินดีขึ้น และร้อยละ 35 เห็นว่าช่วยลดวงจรการระบาดของศัตรูพืชในนาข้าว และที่สำคัญ เกษตรกร ร้อยละ 94 ต้องการจะปลูกพืชปุ๋ยสดต่อเนื่องไปทุกปี เพราะเห็นว่าคุ้มค่า และบางรายปลูกในพื้นที่นาที่ปล่อยทิ้งว่าง พื้นที่ที่ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับทำนาปรัง
ทั้งนี้ ในส่วนการผลิตเมล็ดพันธุ์ปอเทือง ซึ่งเป็นพืชที่ส่งเสริมในโครงการ เกษตรกรเห็นว่าควรให้องค์ความรู้เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการปลูกและเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์การปลูกปอเทืองควรให้ทันช่วงมีความชื้นในดินที่พอเหมาะพร้อมหาวิธีป้องกันหนอนและแมลงเจาะฝัก ดังนั้น ควรต้องมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ เพิ่มการให้ความรู้ด้านป้องกันกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร ส่งเสริมการรวมกลุ่มทำเมล็ดพันธุ์ปอเทือง สนับสนุนเครื่องมือเก็บเกี่ยว รวมทั้งการตลาด และอบรมให้ความรู้มากขึ้น โดยรัฐบาลได้มีโครงการปลูกพืชปุ๋ยสด ต่อเนื่องในปี 2561 ซึ่งจะสามารถลดพื้นที่นาปรังและอุปทานข้าวเปลือกเพิ่มประสิทธิภาพการปรับปรุงบำรุงดิน และตัดวงจรศัตรูพืชโดยการพักดิน (ลดรอบการทำนา) รวมทั้ง แก้ไขปัญหาภัยแล้งได้อีกทางหนึ่งด้วย
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล