- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เกษตรกรชัยภูมิ หันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สศท.5 ระบุ พื้นที่ปลูกเพิ่มร้อยละ 30 เตรียมเก็บเกี่ยว พ.ย. นี้
ข่าวที่ 136/2559 วันที่ 30 กันยายน 2559
เกษตรกรชัยภูมิ หันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สศท.5 ระบุ พื้นที่ปลูกเพิ่มร้อยละ 30 เตรียมเก็บเกี่ยว พ.ย. นี้
พื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังใสจังหวัดชัยภูมิกระทบแล้ง เกษตรกรขาดแคลนต้นพันธุ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 ลงพื้นที่ พบ เกษตรกรหันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน โดยใช้ระยะเวลาปลูกเพียง 4 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวได้ ดึงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดเพิ่ม และพร้อมเก็บเกี่ยวช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
นายคมสัน จำรูญพงษ์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แล้งในฤดูแล้งที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังในเขตจังหวัดชัยภูมิได้รับความเสียหายยืนต้นตายเกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์ ดังนั้น เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกในพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นใช้เวลาเพียง 4 เดือนนับตั้งแต่วันเพาะปลูกถึงวันเก็บเกี่ยว
จากการออกสำรวจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5) ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่การเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ซึ่งปลูกในช่วงเดือนมีนาคม ถึง ตุลาคม ในจังหวัดชัยภูมิเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 ไร่ ในปี 2559 จากปี 2558 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 77,490 ไร่ (เพิ่มร้อยละ 30) เนื่องจากสถานการณ์แล้งในช่วงที่ผ่านมา กระทบอ้อยและมันสำปะหลังได้รับความเสียหาย เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เกษตรกรจึงหันมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน
สำหรับแนวโน้มผลผลิตต่อไร่ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ในจังหวัดชัยภูมิ จะเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน คาดว่าจะมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 617 กิโลกรัมต่อไร่ จากปี 2558 ที่ปริมาณผลผลิตต่อไร่เท่ากับ 542 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 12) เนื่องจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นเกิน 14.5 % ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาเดือนกันยายนปี 2559 นี้อยู่ที่ประมาณ 5.14 บาทต่อกิโลกรัม
**********************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา