• หน้าแรก
  • โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
center
ประวัติความเป็นมาของโครงการ
        พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแก่ปวงราษฎรไทยทั้งหลาย ในระยะต้นแห่งการเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัตินั้น
เป็นพระราชดำริด้านการแพทย์และงานสังคมสงเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากในระยะต้นรัชกาลนั้นกิจการด้านการแพทย์ของไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรและการบริการ
สาธารณสุขในชนบทยังมิได้แพร่หลาย เฉกเช่นปัจจุบัน พระราชกรณียกิจช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓- ๒๕๐๕ จะเป็นการช่วยเหลือบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าไม่มีลักษณะ
เป็นโครงการเต็มรูปแบบอย่างปัจจุบัน
 
        เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ วัณโรคมีอุบัติการณ์สูงและยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ปีหนึ่งๆ มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้เป็นจำนวนไม่น้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราช
ปรารภกับหลวงพยุงเวชศาสตร์ อธิบดีกรมสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ความว่า
 
"คุณหลวง วัณโรค สมัยนี้มียารักษากันได้เด็ดขาดหรือยัง ยาอะไรขาด ถ้าต้องการฉันจะหาให้อีกฉันอยากเห็นกิจการแพทย์ของเมืองไทยเจริญมากๆ"
 
        จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อใช้ในการสร้าง
อาคาร“มหิดลวงศานุสรณ์” ในบริเวณสถานเสาวภา สำหรับใช้ในกิจการทางด้านวิทยาศาสตร์และ ผลิตวัคซีนบีซีจี ซึ่งผู้คนยุคนั้นกำลังประสบปัญหาจากวัณโรคอย่างร้ายแรง
ทรงริเริ่มสร้างภาพยนตร์ขึ้น ที่รู้จักกันในนามว่า “ภาพยนตร์ส่วนพระองค์” จัดฉายเพื่อหารายได้จากผู้บริจาค โดยเสด็จพระราชกุศลนำมาช่วยเหลือพสกนิกรด้านต่าง ๆ เช่น
                 ๑.สร้างตึกวชิราลงกรณ์สภากาชาดไทย
                 ๒.อาคารทางการแพทย์โรงพยาบาลภูมิพล
 
        เมื่อคราวที่โรคอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรงในเมืองไทย ซึ่งโรคนี้ต้องใช้ “น้ำเกลือ” เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะนั้นการให้น้ำเกลือแก่ผู้ป่วยมีค่าใช้จ่ายสูง จำเป็นต้องสั่ง
จากต่างประเทศและน้ำเกลือที่ผลิตได้ในประเทศไทยตอนนั้นยังขาดคุณภาพ จนกล่าวกันว่า “ใส่ใครไปก็ช็อค” จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการศึกษาวิจัยและสนับสนุนในการ
ค้นหาวิธีสร้างเครื่องกลั่นน้ำเกลือใช้เองจนมีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ และเป็นที่ยอมรับกันจนถึงปัจจุบันนี้
 
        โครงการแพทย์หลวงพระราชทาน “เรือเวชพาหน์” เพื่อใช้เป็นหน่วยเคลื่อนที่รักษาราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำน้ำ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการ
ดำเนินการมาจนทุกวันนี้ พระราชจริยวัตรเช่นนี้ได้กลายเป็นการขยายวงกว้างของปรัชญาการสังคมสงเคราะห์ของประเทศไทยโดยฝังลึกจิตใจคนไทยลงไปถึงระดับล่างทุกพื้นที่
ในเรื่องของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จะเห็นได้จากยามที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้นคนไทยทั้งหลายจะช่วยเหลือกันบริจาคโดยมิต้องร้องขอแต่อย่างใด
 
        ด้วยความห่วงใยในทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ นับแต่ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเด็จเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติเป็นต้นมา พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยม
เยียนประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยากจน อยู่ในภูมิภาคต่างๆ มากกว่าประทับอยู่ในพระราชวังที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อทรงค้นหาข้อมูลที่แท้จริง
จากประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐและทรงสังเกตการณ์ สำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ไปพร้อมๆกันด้วย ทั้งนี้เพื่อทรงรวบรวมข้อมูลไว้เป็นแนวทางที่จะพระราชทานพระราชดำริในการ
ดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่อไป
 
        พระราชดำริเริ่มแรกอันเป็นโครงการช่วยเหลือประชาชนเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กรมประมงนำพันธุ์ปลาหมอเทศจากปีนัง
ซึ่งได้รับจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เข้าไปเลี้ยงในสระน้ำพระที่นั่งอัมพรสถาน และเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๙๖
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศ นี้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ นำไปเลี้ยงเผยแพร่ขยายพันธุ์แก่ราษฎรในหมู่บ้านของตน เพื่อจะได้
มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น
 
       โครงการพระราชดำริที่นับว่าเป็นโครงการพัฒนาชนบทโครงการแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
พระราชทานรถบลูโดเซอร์ ให้หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนค่ายนเรศวรไปสร้างถนนเข้าไปยังบ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ (ซึ่งปัจจุบันคือ ตำบลทับใต้) อำเภอหัวหิน
จังหวัดประจวบคิรีขันธ์เพื่อให้ราษฎรสามารถสัญจรไปมาและนำผลผลิตออกมาจำหน่ายยังชุมชนภายนอกได้สะดวกขึ้น
 
        จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่า อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ เพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง เดือดร้อนของราษฎรและ
สร้างเสร็จ ใช้ประโยชน์ได้ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ นับเป็นโครงการพระราชดำริทางด้านชลประทานแห่งแรกของพระองค์

ลักษณะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
 
๑) โครงการตามพระราชประสงค์
        หมายถึง โครงการซึ่งทรงศึกษาทดลองปฏิบัติเป็นส่วนพระองค์ ทรงศึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญในวงงาน ทรงแสวงหาวิธีการทดลองปฏิบัติ ทรงพัฒนา และส่งเสริมแก้ไข
ดัดแปลงวิธีการเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อดูแลผลผลิตทั้งในพระราชฐานและนอกพระราชฐาน ซึ่งต้องทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการทดลองจนกว่าจะเกิดผลดี
ต่อมาเมื่อทรงแน่พระทัยว่าโครงการนั้นๆ ได้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง จึงโปรดเกล้าฯให้รัฐบาลเข้ามารับงานต่อภายหลัง
๒) โครงการหลวง
        พระองค์ทรงดำเนินการพัฒนาและบำรุงรักษาต้นน้ำลำธารในบริเวณป่าเขาในภาคเหนือเพื่อบรรเทาอุทกภัยในที่ลุ่มล่างด้วยเหตุผลที่พื้นที่เหล่านี้เป็นเขตแดนชาวไทยภูเขา
จึงทรงมีโอกาสพัฒนาชาวเขาชาวดอยให้อยู่ดีกินดี ให้เลิกการปลูกฝิ่น เลิกการตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อยลอย และเลิกการค้าไม้เถื่อน ของเถื่อน อาวุธยุทโธปกรณ์นอกกฎหมาย
ทรงพัฒนาช่วยเหลือให้ปลูกพืชหมุนเวียนที่มีคุณค่าสูง ขนส่งง่าย ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภค รวมคุณค่าผลผลิตแล้วให้ได้คุณค่าแทนการปลูกฝิ่น ทั้งๆที่งานของ
โครงการนี้กินเวลายาวนานกว่าจะเกิดผลได้ ต้องใช้เวลานานนับสิบปี การดำเนินงานจะยากลำบากสักเพียงใดมิได้ทรงท้อถอย การพัฒนาค่อยๆได้ผลดีขึ้นๆ ชาวเขาชาวดอย
จึงมีความจงรักภักดีเรียกพระองค์ว่า“พ่อหลวง” และเรียกสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถว่า“แม่หลวง” โครงการของทั้งสองพระองค์จึงเรียกว่า “โครงการหลวง”
๓) โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์
        หมายถึง โครงการที่พระองค์ได้พระราชทานข้อเสนอแนะและแนวทางพระราชดำริให้เอกชนไปดำเนินการ ด้วยกำลังเงิน กำลังปัญญา และกำลังแรงงาน พร้อมทั้งการ
ติดตามผลงานให้ต่อเนื่องโดยภาคเอกชน เช่น โครงการพัฒนาหมู่บ้านสหกรณ์เนินดินแดง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ซึ่งสโมสรโรตารีแห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดการ
และดำเนินงานตามพระราชดำริ โครงการพจนานุกรม โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เป็นต้น
๔) โครงการตามพระราชดำริ
        โครงการประเภทนี้เป็นโครงการที่ทรงวางแผนพัฒนา ทรงเสนอแนะให้รัฐบาลร่วมดำเนินการตามแนวพระราชดำริ โดยพระองค์เสด็จฯ ร่วมทรงงานกับหน่วยงานของรัฐบาลซึ่งมีทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร โครงการตามพระราชดำรินี้ในปัจจุบันเรียกว่า“โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปัจจุบันมีลักษณะที่เป็นโครงการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ดำเนินการเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาสั้นและระยะเวลายาวที่มากกว่า๕ ปี ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่เป็นงานด้านวิชาการ เช่น โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าทดลอง หรือโครงการที่มีลักษณะเป็นงานวิจัย เป็นต้น

ประเภทโครงการด้านต่างๆ

        
  ๑. โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ
  3,248 โครงการ/กิจกรรม
  ๒. โครงการพัฒนาด้านการเกษตร
  170 โครงการ/กิจกรรม
  ๓. โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม 
  182 โครงการ/กิจกรรม
  ๔. โครงการพัฒนาด้านส่งเสริมอาชีพ
  339 โครงการ/กิจกรรม
  ๕. โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข
  58 โครงการ/กิจกรรม
  ๖. โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร
  87 โครงการ/กิจกรรม
  ๗. สวัสดิการสังคม/การศึกษา
  398 โครงการ/กิจกรรม
  ๘. โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ/อื่นๆ
  259 โครงการ/กิจกรรม
 

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริล่าสุด

7

แหล่งที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
www.rdpb.go.th/th/Projects