- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
รมว.เกษตรฯ พร้อมร่วมเวทีสุดยอดผู้นำ G20 ไทยเตรียมโชว์ผลสำเร็จ ‘สานพลังประชารัฐ - ตลาดนำการผลิต’ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ดันเกษตรไทยสู่ความมั่นคง
ข่าวที่ 53/2562 วันที่ 7 พฤษภาคม 2562
รมว.เกษตรฯ พร้อมร่วมเวทีสุดยอดผู้นำ G20 ไทยเตรียมโชว์ผลสำเร็จ ‘สานพลังประชารัฐ - ตลาดนำการผลิต’
ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ดันเกษตรไทยสู่ความมั่นคง
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุม G20 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2562 ณ เมืองนีงาตะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 20 แห่ง ประกอบด้วย สหภาพยุโรป กับ 19 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ (สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 11 ประเทศ (อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี)สำหรับปีนี้ ประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ในฐานะประธานอาเซียน ได้รับเชิญจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งเจ้าภาพการจัดงาน เพื่อร่วมกันสร้างเศรษฐกิจและเสถียรภาพ เพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงิน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งในส่วนของภาคเกษตร จะมีการรับรองปฏิญญารัฐมนตรีเกษตรของกลุ่ม 20 ซึ่งประกอบด้วย 3 หัวข้อหลัก คือ 1) นวัตกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคเกษตรและอาหาร 2) การมุ่งเน้นห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารต่อการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืน (Food Value Chains: FVCs) ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืน เนื่องจากการบริหารจัดการที่ดีของ FVC จะช่วยเพิ่มมูลค่าตลอดห่วงโซ่ (ทั้งการผลิต การแปรรูป การจัดจำหน่าย และอื่นๆ) รวมทั้งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่มูลค่าอาหาร ซึ่งเป็นการแบ่งปันผลประโยชน์ให้เหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 3) การประสานความร่วมมือ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลก ซึ่งจะต้องมีการประสานความร่วมมือในประเด็นเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายและมุ่งสู่การบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SGDs) อันเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลก
นอกจากนี้ ไทยจะนำเสนอถึงผลสำเร็จของดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึง ช่วยกระจายรายได้ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงการใช้แนวทางตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการสินค้าเกษตรแบบใหม่ ช่วยให้ปริมาณการผลิตและความต้องการสินค้าเกษตรเกิดความสมดุลกัน โดยเกษตรกรเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ค้าร่วมกัน พร้อมนี้ ไทยจะได้ร่วมประชุมหารือระดับทวิภาคีกับกลุ่มประเทศ G20 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร อาทิ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ต่อภาคเกษตร การป้องกันศัตรูพืช และโรคระบาดในปศุสัตว์ ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเกษตรในยุคดิจิทัล
ด้านนายฉันทานนท์ วรรณเขจร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเสริมว่า หากมองถึงสถานการณ์การค้าของกลุ่มประเทศ G20 ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557 - 2561) กลุ่มประเทศ G20 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร เฉลี่ย 2.57 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 76 ของมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรของโลก) โดยแบ่งเป็น มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร 1.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 77 ของมูลค่าการค้าส่งออกสินค้าเกษตรของโลก) ซึ่งประเทศส่งออก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 9.4) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 6.3) เยอรมนี (ร้อยละ 6.1) จีน (ร้อยละ 5.5) และ บราซิล (ร้อยละ 4.7) และเป็นมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตร 1.28 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 75 ของมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรของโลก) ประเทศนำเข้า 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (สัดส่วนร้อยละ 10.3) จีน (ร้อยละ 7.5) เยอรมนี (ร้อยละ 6.9) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 4.31) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 4.27) ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย มีการค้าสินค้าเกษตรกับ G20 ช่วงระยะเวลา 5 ปี (ปี 2557 - 2561) เฉลี่ย 0.04 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 67 ของมูลค่าการค้าโลก) แบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 0.03 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่านำเข้า 0.01 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ