- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เคาะจีดีพีเกษตร ปี 61 โต 4.6% สศก. ระบุ ปี 62 ยังคงขยายตัว คาดกรอบทั้งปีโต 2.5 - 3.5%
ข่าวที่ 141/2561 วันที่ 21 ธันวาคม 2561
เคาะจีดีพีเกษตร ปี 61 โต 4.6% สศก. ระบุ ปี 62 ยังคงขยายตัว คาดกรอบทั้งปีโต 2.5 - 3.5%
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2561 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนสาขาประมงหดตัวลง ซึ่งปัจจัยบวก เป็นผลจากกระทรวงเกษตรฯ มุ่งเน้นการปฏิรูปภาคเกษตร ด้วยหลักการตลาดนำการผลิตควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งปริมาณน้ำและสภาพอากาศยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร ทำให้พืชส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดีและมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ด้าน ปัจจัยลบ เกิดจากช่วงต้นฤดูเพาะปลูก หลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวนาปีที่สำคัญประสบภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ของต้นข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายสาขา พบว่าสาขาพืชในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับปี 2560 มีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณน้ำใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำหลักบริเวณ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (อ่างเก็บน้ำภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) ที่เพียงพอ ประกอบกับในช่วงฤดูฝนมีปริมาณน้ำเหมาะสม นอกจากนี้ ภาครัฐ ร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่เหมาะสม การจัดหาแหล่งน้ำ และการใช้พันธุ์ที่ดี ส่งผลให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตพืชบางส่วนยังคงได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมและภาวะแห้งแล้งในบางพื้นที่ แต่ในภาพรวมไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในสาขาพืชมากนัก
ผลผลิตพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ และปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์ดี เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้สองรอบตามปกติ ประกอบกับราคาข้าวที่เพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกแทนพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง
อ้อยโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายภาครัฐสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกอ้อยโรงงานทดแทนในพื้นที่เพาะปลูกข้าว ที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับโรงงานน้ำตาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมการปลูกอ้อย เกษตรกรมีการใช้ท่อนพันธุ์ดีและมีการดูแลเอาใจใส่ สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2558 - 2559 ราคาสับปะรดอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีผลผลิตสับปะรดเพิ่มขึ้น ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2553 - 2555 ราคายางพาราที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกยางพาราแทนพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล พื้นที่นา และพื้นที่โค่นต้นยางที่มีอายุมาก ประกอบกับเนื้อที่กรีดได้ส่วนใหญ่เป็นต้นยางพาราที่อยู่ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิตสูง
ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันปลูกใหม่ในปี 2558 เริ่มให้ผลได้ในปีนี้ ประกอบกับในช่วง 1 - 2 ปี ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ต้นปาล์มมีความสมบูรณ์และมีจำนวนทะลายเพิ่มขึ้น ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ต้นลำไยที่ปลูกในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิต และเกษตรกรบำรุงดูแลรักษาต้นลำไยเป็นอย่างดี ทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุเรียน ที่ปลูกในปี 2556 เริ่มให้ผลผลิต และสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ทุเรียนออกดอกและติดผลดี ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น และ เงาะ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรดูแลรักษาดี ทำให้ต้นเงาะมีความสมบูรณ์ รวมทั้งสภาพอากาศเอื้ออำนวย
ด้านราคา สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยมีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามามากขึ้น รวมทั้งมีการส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายกับต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ขยายตัวขึ้น รวมทั้งการดำเนินมาตรการ รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา มันสำปะหลัง มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะโรงงานแป้งมันและลานมัน ประกอบกับภาคเอกชนมีการกำหนดราคาส่งออกมันเส้นขั้นต่ำ ทำให้ราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น ลำไย มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาผลิตลำไยนอกฤดูกาลเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาราคาตกต่ำในช่วงฤดูกาลปกติที่มีผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดกระจุกตัว (เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม) อีกทั้งคุณภาพผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด ทุเรียนและมังคุด มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ
สาขาปศุสัตว์ ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญทุกชนิดเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร โคเนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ซึ่งเป็นผลจากการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน มีการเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยให้สัตว์เติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา
สำหรับผลผลิตไก่เนื้อ เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการขยายการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยการผลิตไก่เนื้อของไทย มีระบบการผลิตที่ปลอดภัย ทำให้มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาเนื้อไก่ที่ยังคงต่ำกว่าเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ผลผลิตไข่ไก่ เพิ่มขึ้นเนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์ม ที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่
ผลผลิตสุกร เพิ่มขึ้นจากความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่องของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับเกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์ม ที่ดี มีการป้องกันโรคระบาดในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ การผลิตโคเนื้อ มีการขยายการผลิตโคมีชีวิตเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีผลผลิตโคเนื้อเพิ่มขึ้น น้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการผลิต มีการคัดทิ้งแม่โคที่ไม่สมบูรณ์และให้น้ำนมน้อย ส่งผลให้อัตราการให้น้ำนมต่อแม่ต่อปีเพิ่มขึ้น
ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่ที่มีราคาเฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 ได้แก่ ไก่เนื้อ สุกร และโคเนื้อ เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แม้จะมีความต้องการบริโภคอย่างต่อเนื่องทั้งปี แต่ผลผลิตยังคงมีมาก โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ภาครัฐได้มีมาตรการให้ลดปริมาณการผลิตสินค้าปศุสัตว์ โดยปลดระวางแม่พันธุ์สุกร นำสุกรชำแหละเข้าห้องเย็น รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคสุกรหัน โคเนื้อ และไก่เนื้อ ส่งผลให้ราคาสินค้าปศุสัตว์ในช่วงครึ่งหลังของปีปรับตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม ราคาเฉลี่ยทั้งปียังคงต่ำกว่าปี 2560 สำหรับไข่ไก่และน้ำนมดิบ มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรได้รับแรงจูงใจจากเกณฑ์การรับซื้อน้ำนมดิบที่ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ส่วนราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่
สาขาประมงในปี 2561 หดตัวร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง มีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ชะลอการลงลูกกุ้ง ซึ่งเป็นผลจากผลผลิตกุ้งของโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเกิดภาวะกุ้งล้นตลาด สำหรับปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลผลิตประมงน้ำจืด อาทิ ปลานิล ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เป็นผลมาจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเลี้ยง เกษตรกรสามารถขยายเนื้อ เพิ่มรอบการเลี้ยง และเพิ่มอัตราการปล่อยลูกพันธุ์
ด้านราคา ในช่วงเดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2561 ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 ซึ่งสอดคล้องกับราคาในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะอุปทานส่วนเกิน สำหรับปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย (ขนาด 2 – 4 ตัวต่อกิโลกรัม) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลงเช่นเดียวกัน โดยเป็นการลดลงตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตรในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบปี 2560 ซึ่งเป็นผลจากการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ในส่วนของอ้อยโรงงานมีการใช้บริการเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การรื้อตออ้อยเพื่อปลูกใหม่ทดแทนของเดิม และขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโรงงาน นอกจากนี้ ภาครัฐได้ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มเพื่อใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน ทั้งในด้านการเตรียมดิน การเพาะปลูก และการเก็บเกี่ยวผลผลิต
สาขาป่าไม้ในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยผลผลิตป่าไม้สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ไม้ยางพารา ครั่ง ถ่านไม้ และรังนกนางแอ่น ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากการตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น สำหรับผลผลิตครั่ง มีการขยายตัวจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ครั่งมีการเจริญเติบโตและฟื้นตัวได้ดีขึ้น ขณะที่ถ่านไม้ มีการขยายตัวจากการใช้ในครัวเรือน ด้านผลผลิตรังนกนางแอ่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดตลาดรังนกของประเทศจีน ทำให้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 มีการส่งออก ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.5 – 3.5 โดยทุกสาขายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายด้านการเกษตรเพื่อปฏิรูปภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง และสภาพอากาศโดยทั่วไปประกอบกับปริมาณน้ำที่ยังคงเอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร
อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร
หน่วย: ร้อยละ
สาขา | 2561 | 2562 |
ภาคเกษตร | 4.6 | 2.5 – 3.5 |
พืช | 5.4 | 2.7 – 3.7 |
ปศุสัตว์ | 1.9 | 1.3 - 2.3 |
ประมง | -1.0 | 1.0 – 2.0 |
บริการทางการเกษตร | 4.0 | 2.0 – 3.0 |
ป่าไม้ | 2.0 | 1.2 – 2.2 |
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร