- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. ร่วมเวที JCM ครั้งที่ 25 ณ เมืองอิเหนา ผลักดันความร่วมมือสินค้าเกษตรฯ ในกรอบอาเซียน
ข่าวที่ 82/2561 วันที่ 31 กรกฎาคม 2561
สศก. ร่วมเวที JCM ครั้งที่ 25 ณ เมืองอิเหนา ผลักดันความร่วมมือสินค้าเกษตรฯ ในกรอบอาเซียน
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมเวทีคณะกรรมการร่วมส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้อาเซียน หรือ JCM ครั้งที่ 25 ณ เมืองลอมบอก สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ของไทย พร้อมร่วมกำหนดแนวทาง MOU
ว่าด้วยความร่วมมือในกรอบอาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ ฉบับใหม่
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้อาเซียน The Joint Committee Meeting (JCM) on ASEAN Cooperation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 10–12 กรกฎาคม 2561 ณ เมืองลอมบอก สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อร่วมรายงานผลการดำเนินงานในการส่งเสริมสินค้ามันสำปะหลังของไทย และร่วมกำหนดแนวทางในการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในกรอบอาเซียนเกี่ยวกับแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ (MOU on ASEAN Co–operation in Agriculture and Forest Products Promotion Scheme) ฉบับใหม่ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศกัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม รวมถึงสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat: ASEC) เข้าร่วมการประชุมฯ
การประชุม JCM ดังกล่าว ได้เห็นชอบในหลักการให้ต่ออายุ MOU ออกไปอีก 5 ปี (ปี 2563 – 2568) ซึ่ง MOU ฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในปี 2562 โดยที่ประชุมมีมติให้ประเทศนำ (Lead Country) ของคณะทำงานรายสินค้า (National Focal Point Working Group: NFPWG) ทั้ง 12 สินค้า ทำการทบทวนผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ (Strategic Plan of Action: SPA) และความเหมาะสมของกิจกรรมที่กำหนดใน SPA ว่ามีสอดคล้องกับเป้าประสงค์ของ MOU หรือไม่
สำหรับการดำเนินงานของไทยในฐานะ Lead Country สินค้ามันสำปะหลัง ซึ่งมี สศก. เป็นหน่วยงานหลัก ได้รายงานผลการจัดประชุมคณะทำงานสินค้ามันสำปะหลัง (NFPWG on Tapioca) ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ณ จังหวัดอุดรธานี และการจัดประชุมมันสำปะหลังนานาชาติ (World Tapioca Conference) ครั้งที่ 5 เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 ณ กรุงเทพฯ โดยรายงานข้อมูลสินค้ามันสำปะหลัง ปี 2558 – 2560 ของไทย กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งพบว่า แนวโน้มเนื้อที่เก็บเกี่ยวมีการเพิ่มขึ้น
อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย ผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอ และต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกหลักของอาเซียนและตลาดโลก โดยที่ผ่านมาไทยผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังอันดับ 1 ของอาเซียน (เป็นผู้ผลิตอันดับ 2 ของโลก รองจากไนจีเรีย) ซึ่งไทยในฐานะ Lead Country สินค้ามันสำปะหลัง ได้ผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างภายในประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
อีกทั้ง ยังเป็นการรวมตัวของประเทศผู้ผลิตมันสำปะหลัง ในการสร้างอำนาจในการต่อรองกับประเทศจีนที่เป็นตลาดหลัก นอกจากนี้ ไทยยังเป็น Lead Country ในสินค้าหม่อนไหม ซึ่งกรมหม่อนไหม ได้รายงานสรุปผลการจัดประชุมคณะทำงานสินค้าหม่อนไหม ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้เห็นชอบในการจัดทำฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ร่วมกัน นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบถึงกำหนดการจัดประชุมคณะทำงานสินค้าชาและกาแฟอาเซียน ที่จะเป็นการประชุมแบบต่อเนื่อง (Back–to–Back) ในระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นหน่วยประสานงานหลักของไทย ทั้งนี้ คณะทำงานรายสินค้า เป็นกลไกการดำเนินงานที่สำคัญในการส่งเสริมสินค้าเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน ที่จะสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันตามเป้าหมายของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบางรายสินค้าจะต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกร่วมกัน ดังนั้น การยกร่าง MOU ฉบับใหม่ (ปี 2563–2568) จึงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ และแนวทางในการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าประสงค์ และมุ่งให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการดำเนินงานที่ผ่านมา
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ