- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
สศก. คาด รายได้เกษตรกรพฤษภาคม ดัชนีขยับเพิ่ม 7.94 ระบุ มิถุนายนยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ข่าวที่ 55/2561 วันที่ 23 พฤษภาคม 2561
สศก. คาด รายได้เกษตรกรพฤษภาคม ดัชนีขยับเพิ่ม 7.94 ระบุ มิถุนายนยังอยู่ในเกณฑ์ดี
สศก. ระบุ ดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนพฤษภาคม 61 คาดว่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.94 มีกลุ่มสินค้าผลผลิตออกมาก ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สับปะรด คาด มิถุนายน ดัชนีรายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีราคา ยังคงทรงตัว ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสินค้า ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ เงาะ และ สับปะรด
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร ซึ่งวัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรเดือนเมษายน 2561 พบว่า ลดลงจากเดือนเมษายน 2560 ร้อยละ 0.67 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 4.22 ของเดือนมีนาคม 2561
สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือนเมษายน 2561 ลดลงจากเดือนเมษายน 2560 ร้อยละ 9.33 โดยสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณต๊อกน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากความต้องการซื้อภายในประเทศลดลง ประกอบกับจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อหลักมีสต๊อกยางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สับปะรด ราคาลดลงเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตสับปะรดส่วนเกินจากแหล่งผลิต และ สุกร ราคาลดลงเนื่องจากปริมาณผลผลิตมากกว่าความต้องการ ขณะที่การค้าชะลอตัวจากโรงเรียนปิดภาคเรียน
ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ตลาดมีความต้องการข้าวในทิศทางที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการส่งออกมีความต้องการข้าว เพื่อเตรียมการส่งมอบตามคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้า มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการมันสำปะหลัง ประกอบกับราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงงานอาหารสัตว์มีความต้องการอย่างต่อเนื่องและ ไข่ไก่ ราคาเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจาก การปลดแม่ไก่ยืนกรงออกจากระบบเพื่อลดผลผลิตส่วนเกิน รวมทั้งมีมาตรการเพิ่มการส่งออก
ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร เดือนเมษายน 2561 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2560 ร้อยละ 9.55 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สับปะรด สุกร และไก่เนื้อ ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน
หากมองถึงแนวโน้มดัชนีรายได้ของเกษตรกรในเดือนพฤษภาคม 2561 คาดว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2560 ร้อยละ 7.94 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.82 ในขณะที่ดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 4.32 สำหรับสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่งผลให้ดัชนีราคาเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยางพารา ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากเกษตรกรเริ่มเปิดกรีดยาง ขณะที่ผู้ซื้อต้องการยางเพื่อส่งมอบ ส่งผลให้ดัชนีราคาปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และ สับปะรด คาดว่า ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ดัชนีราคาจึงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ
ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2561 คาดว่าดัชนีรายได้เกษตรกรคาดว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีราคา คาดว่าจะทรงตัว ในขณะที่ดัชนีผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ เงาะ และสับปะรด เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายน 2560
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ปฎิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูล : ศูนย์ปฎิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร