- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
ภาคเกษตรยังฉลุย สศก. ยัน ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หลังเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 1 เม.ย. นี้
ข่าวที่ 30/2561 วันที่ 22 มีนาคม 2561
ภาคเกษตรยังฉลุย สศก. ยัน ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก หลังเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 1 เม.ย. นี้
สศก. วิเคราะห์ผลกระทบภาคเกษตรจากการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ระบุ ภาพรวมไม่กระทบต่อภาคเกษตรมากนัก แต่อาจกระทบต่อช่วงที่เป็นฤดูกาลเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้แรงงานค่อนข้างมากในบางสาขาการผลิต โดยสาขาพืช ได้รับผลกระทบมากสุด จากการผลิตไร่อ้อยโรงงาน สวนยางพารา และไร่ข้าวโพด เป็นต้น
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า จากกรณีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นไป โดยอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีก 5-22 บาท ซึ่งอัตราค่าจ้างใหม่ จะอยู่ในช่วง 308-330 บาทต่อวัน (เฉลี่ย 315.97 บาทต่อวัน) ใน 7 กลุ่มจังหวัด ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเพื่อใช้สำหรับผลิตสินค้าและบริการของแต่ละสาขาในระบบเศรษฐกิจ และเมื่อใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต 180 สาขา ปี 2553 ของประเทศไทยที่จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาคำนวณหาสัดส่วนต้นทุนแรงงานของภาคการผลิต สามารถแบ่งเป็น 3 ภาคการผลิต ดังนี้
ภาคอุตสาหกรรม มีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิต ร้อยละ 9.0 โดยต้นทุนแรงงานไม่มาก เนื่องจากอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยการผลิตสินค้า ภาคบริการ มีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิต ร้อยละ 20.2 โดยภาคบริการเฉลี่ยใช้แรงงานคนมาก เพราะต้องสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าในการให้บริการ ส่วน ภาคการเกษตร มีอัตราส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่อต้นทุนการผลิต ร้อยละ 17.4 โดยเฉลี่ยใช้แรงงานเป็นหลักในกิจกรรมการผลิต
ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จากการวิเคราะห์ของ สศก. ถึงผลกระทบจากการเพิ่มค่าจ้างแรงงานต่อระบบเศรษฐกิจการเกษตรไทย โดยพิจารณาจากสัดส่วนต้นทุนค่าจ้างแรงงานถึงผลกระทบต่อภาคเกษตรของแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากสุด โดยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ยร้อยละ 17.8 ได้แก่ การทำไร่อ้อยโรงงาน สวนยางพารา การทำไร่ข้าวโพด การทำไร่มันสำปะหลัง การทำสวนผัก และการทำสวนผลไม้ โดยการผลิต จำเป็นต้องใช้แรงงานตั้งแต่การเริ่มการเตรียมดิน การเพาะปลูก การดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต รองลงมา คือ สาขาบริการทางการเกษตร มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ร้อยละ 12.1 ซึ่งมีการใช้แรงงานที่ไม่มากนัก เนื่องจากได้นำเทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานบางกิจกรรมการผลิต เช่น เครื่องเกี่ยวข้าว เครื่องตัดอ้อย เป็นต้น สาขาประมง มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ร้อยละ 8.4 ซึ่งการทำประมงทะเลจะได้รับผลกระทบการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าการทำประมงน้ำจืด และ สาขาปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำน้อยที่สุด โดยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานเฉลี่ย ร้อยละ 8.0 จากกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงาน ได้แก่ การเลี้ยงสัตว์ปีก และสุกร
หากมองถึงภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเป็นหลักในการผลิตสินค้า และใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรในการผลิตยังไม่มาก ซึ่งบางส่วนยังขาดแรงงานที่มีทักษะ และการจ้างงานภาคเกษตรเป็นลักษณะการจ้างเหมาตามกิจกรรมงานหรือตามฤดูกาล ดังนั้น ค่าจ้างแรงงานจะเป็นการตกลงกันของผู้จ้างและผู้รับจ้าง โดยยึดความสมัครใจและพอใจของทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก ทำให้การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อาจไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรมากนัก แต่อาจจะกระทบต่อค่าจ้างแรงงานในช่วงที่เป็นฤดูกาลเพาะปลูก และเก็บเกี่ยวที่ต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยรวมสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับรายได้ของภาคครัวเรือนเกษตรที่มีอาชีพแรงงานก็จะเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับเพิ่มไปด้วย ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
ดังนั้น แม้การปรับค้าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จะมีผลกระทบต่อภาคเกษตรค่อนข้างน้อย แต่สิ่งสำคัญคือภาคการเกษตรยังคงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งการพัฒนาศักยภาพแรงงานเกษตรเพื่อให้สามารถลดต้นทุนในการผลิต รวมทั้งเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานภาคการเกษตรเป็นแบบการรวมกลุ่มเกษตรกรหรือคนในชุมชน และการการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร