- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
เร่งแก้ปัญหาศัตรูมะพร้าวระบาด จี้จุดพื้นที่ประจวบ แหล่งปลูกอันดับ 1 เดินเครื่องมาตรการแก้ปัญหา
ข่าวที่ 32/2560 วันที่ 17 มีนาคม 2560
เร่งแก้ปัญหาศัตรูมะพร้าวระบาด จี้จุดพื้นที่ประจวบ แหล่งปลูกอันดับ 1 เดินเครื่องมาตรการแก้ปัญหา
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลุยต่อเนื่อง ลงพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญของไทยรวม 457,285 ไร่ ซึ่งพบการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว 8 อำเภอ รวม 102,121 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.36 ของพื้นที่ปลูก ด้านกระทรวงเกษตรฯ เร่งกำหนดแนวทางการไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ด้วยการบูรณาการ รูปแบบประชารัฐ
วันนี้ (17 มีนาคม 2560) นางจันทร์ธิดา มีเดช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศก. เพื่อร่วมติดตามสถานการณ์ศัตรูมะพร้าวระบาดของทีมรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) ประธานกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช โดยหลังจากติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่ต่อเนื่อง ณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกหนึ่งแหล่งปลูกมะพร้าวที่สำคัญในภาคใต้ และกำลังประสบปัญหาศัตรูมะพร้าวเข้าทำลายต้นมะพร้าว โดยเฉพาะแมลงดำหนามและหนอนหัวดำ ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตมะพร้าวของไทย และไม่สามารถสนองความต้องการของตลาดได้เพียงพอ
สำหรับพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ มีจำนวน 1,240,874 ไร่ ใน 55 จังหวัด พบการระบาดของหนอนหัวดำ 28 จังหวัดพื้นที่รวม 78,954 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 6 ของพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งประเทศ โดยในส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน44,296ครัวเรือนมีพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 1,924,963ไร่พืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ สับปะรด และมะพร้าวซึ่งมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในประเทศ จำนวน 457,285ไร่เกษตรกร 24,798 ครัวเรือน ปลูกมากที่สุดที่อำเภอบางสะพาน 162,120 ไร่ รองลงมาอำเภอทับสะแก 141,554 ไร่ อำเภอบางสะพานน้อย 71,267 ไร่ และอำเภอเมือง46,713 ไร่
ทั้งนี้ การระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มี 8 อำเภอ รวม 102,121 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.36 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช และกรมวิชาการเกษตร รวมทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกษตรกรและเอกชน ได้มีการบูรณาการทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรรูปแบบประชารัฐร่วมกันรณรงค์ในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการไขปัญหา คือ เร่งตัดทางใบที่ถูกหนอนหัวดำทำลายและนำมาเผา พ่นด้วยเชื้อ BT ปล่อยแตนเบียน พ่นสารเคมีทางใบ และฉีดสารเคมีเข้าต้นตามหลักวิชาการที่ไม่ส่งผลต่อต้นมะพร้าว ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม
*********************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร