- ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
- ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
- รายละเอียดภาวะเศรษฐกิจการเกษตร
ข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร
แปลงใหญ่คืบหน้า 92% เกษตรกรเห็นชัดช่วยลดต้นทุน รุกก้าวสู่ผู้จัดการแปลงด้วยตนเองใน 3 ปี
ข่าวที่ 120/2559 วันที่ 20 กันยายน 2559
แปลงใหญ่คืบหน้า 92% เกษตรกรเห็นชัดช่วยลดต้นทุน รุกก้าวสู่ผู้จัดการแปลงด้วยตนเองใน 3 ปี
แจงผลโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ดำเนินการแล้วร้อยละ 92 ของเป้าหมาย เกษตรกรเห็นชัด ผลโครงการช่วยลดต้นทุนจริง ชู การผลิตข้าวต้นทุนลดลง 288 บาท/ไร่ หรือ ร้อยละ34 วอนภาครัฐเร่งเดินหน้า สนับสนุนต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเป็นผู้จัดการแปลงได้เองในอีก 3 ปีข้างหน้า
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกัน โดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน ให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ (ต.ค.58 - ส.ค.59) ได้ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 92 ของเป้าหมาย ครอบคลุมทั้ง 5 ด้านสำคัญ ดังนี้
1.การเตรียมการ ขณะนี้ มีแปลงดำเนินงานตามระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่แล้ว จำนวน 596 แปลง จำนวนพื้นที่ 1.47 ล้านไร่ เกษตรกร 93,260 ราย โดยมีแปลงใหญ่ที่ผ่านการรับรองจากคณะอนุกรรมการฯ จำนวน 564 แปลง ประกอบด้วย 9 กลุ่ม 32 ชนิดสินค้า 2.การพัฒนาผู้จัดการแปลง กรมส่งเสริมการเกษตร จัดอบรมผู้จัดการแปลงของ 268 แปลง และทีมขับเคลื่อนงานของจังหวัด เพื่อสร้างแนวคิดและความรู้กับผู้จัดการแปลงในด้านการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาด ดำเนินการครบแล้วทั้ง 4 รุ่น รวม 520 คน
3.การกำหนดเป้าหมายและแผนปฏิบัติ มีการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาและแผนปฏิบัติงานในแปลงใหญ่ 533 แปลงที่ชัดเจน ใน 5 ด้าน ดังนี้ ด้านการลดต้นทุนการผลิต (481 แปลง) ด้านการเพิ่มผลผลิต (468 แปลง) ด้านการเพิ่มมูลค่าผลผลิต (457 แปลง) ด้านการบริหารจัดการ (405 แปลง) ด้านการตลาด (438 แปลง) 4. การดำเนินงานตามแผน ทุกแปลงที่ผ่านการรับรอง มีการดำเนินงานตามแผน โดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เอกชน และหน่วยงานท้องถิ่น
5. การติดตามและประเมินผล มีการติดตามความก้าวหน้าโดยระบบงานออนไลน์ที่มีการปรับปรุงข้อมูลในลักษณะ Real Time ซึ่งขณะนี้ มีจังหวัดบันทึกข้อมูลในระบบออนไลน์จำนวน 530 แปลง มีการติดตามโดยหน่วยงานของกระทรวงเกษตร และผู้ตรวจราชการ
จากการดำเนินงานตามแผนดังกล่าว สศก. ได้มีการติดตามประเมินผล โดยสำรวจข้อมูลในพื้นที่ 20 จังหวัด กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ จำนวน 24 ชนิดสินค้า เกษตรกร 615 ตัวอย่าง พบว่า เกษตรกรร้อยละ 95 ได้รับการส่งเสริมความรู้การพัฒนาการเกษตร โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมได้นำความรู้ไปปฏิบัติในพื้นที่ตนเอง ด้านการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต เกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตราคาลดลง (เมล็ดพันธุ์ข้าวลดลง 1.68 บาท/กก. และปุ๋ยเคมีราคาลดลง กระสอบละ 35 บาท)
ด้านการลดต้นทุนการผลิต พบว่า ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง 288 บาท/ไร่ (ร้อยละ34) ปาล์มน้ำมันลดลง 364 บาท/ไร่ (ร้อยละ15) มันสำปะหลังลดลง 133 บาท/ไร่ (ร้อยละ15) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 99 บาท/ไร่ (ร้อยละ13) ไม้ผลลดลง 339 บาทไร่ (ร้อยละ 9) ด้านการตลาด มีเกษตรกรที่เริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตและขายแล้วร้อยละ 30 (ร้อยละ 17 มีการรวมกลุ่มกันขาย และร้อยละ 63 ขายได้ราคาสูงขึ้นกว่าเดิม) ด้านการบริหารจัดการ พบว่า เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้ราคาถูกกว่าแบบต่างคนต่างซื้อ 0.62 บาท/กก. มีการร่วมกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์/สารชีวภัณฑ์ ผู้รับซื้อตกลงมารับซื้อ ณ จุดรวบรวมผลผลิต ซึ่งช่วยลดต้นทุน ซึ่งเกษตรกรร้อยละ 65 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานโครงการในระดับมาก และร้อยละ 34 พึงพอใจในระดับปานกลาง เนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิตในปี 2559/60 ลดลงจริง อย่างไรก็ตาม ต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน และเกษตรกรสามารถที่จะเป็นผู้จัดการแปลงได้เองในอีก 3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ได้มีการสนับสนุนสินเชื่อ ในโครงการสนับสนุนให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ในแปลงใหญ่ข้าว 426 แปลง ระยะเวลา 1 ปี ภาครัฐชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3.50 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยในส่วนของกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ อัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นโครงการขอกู้กับ ธ.ก.ส. และเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ครม. ได้อนุมัติสินเชื่อโครงการสนับสนุนเชื่อเพื่อพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ในแปลงใหญ่ จำนวน 650 แปลง เป็นระยะเวลา 3 ปี สำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้าว ในส่วนของข้าวจะได้รับสินเชื่อต่อในปี 2 และ 3 จากโครงการนี้ ภาครัฐชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยในส่วนของกลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ อัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี
**********************
ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล